ไปต่อไม่รอใครแล้ว กับโครงการเม็กกะโพรเจ็กต์ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดฯ เฟส 3 ที่นายกฯหวังให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ และเป็นประตูการค้ารองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ S-Curve และ New S- Curve เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน บัดนี้เป็นรูปธรรมจับต้องได้แล้ว
วันที่ 28 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสรปุสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 1 ใน 5 ของโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อใช้รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการยืนยันเจตจำนงของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อันจะก่อให้เกิดการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทุกคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วง จะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ทั้งการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ และเป็นประตูการค้ารองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ S-Curve และ New S- Curve เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ ตลอดจนมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ การดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งรถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ EEC ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนช่วยยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังระบุว่า ขณะนี้โครงการต่าง ๆ ของ EEC มีความก้าวหน้าแล้วเสร็จตามแผนเป็นที่น่าพอใจ เช่น โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่มีการเตรียมความพร้อมดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่ EEC ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่สนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดตัวและขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต และแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับผู้นำ นักธุรกิจระดับสูง สื่อชั้นนำ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดปีหน้า
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า “นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำขอให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ผลักดันและส่งเสริมผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนคนไทยในทุกด้าน ทำให้ EEC และประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุน นักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่ต้องเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”