Truthforyou

ปชช.หวดพิธาซ้ำ! เปิดผลโพลชี้ชัด คนไทยได้บทเรียน “อย่าชักศึกเข้าบ้าน-อย่าทำลายเสาหลัก” สั่งสอนนักการเมืองอย่าปากพล่อย?

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 65 ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ กรณีรัสเซียบุกยูเครน ในทำนองว่า เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารจากยูเครนในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และขอเตือนรัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบ เศรษฐกิจจะฟุบเฟ้อ ส่งผลต่อปากท้องประชาชนโดยตรง งานนี้เลยทำให้มีกระแสต่อว่านายพิธาอย่างหนัก ว่าสถานการณ์ตอนนี้ เราแค่เตรียมรับมือก็ถูกต้องแล้ว แต่อย่าไปพาดพิงถึงเรื่องในบ้านเขา จะเป็นการชักศึกเข้าบ้านมากกว่า

 

จนต่อมาทำให้มีคอมเม้นต์จากโซเชียลเข้ามาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ ว่าสถานการณ์ดังกล่าว นายพิธาไม่ควรออกมาพูดอะไร และท้าให้ส่งกลุ่มม็อบไปช่วย รวมทั้งมีต่างชาติเข้ามาวิจารณ์ว่า ไม่ใช่เรื่องที่นายพิธาควรจะยุ่ง

ล่าสุดนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่องวิกฤตยูเครนในสายคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,106 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 เห็นด้วยว่า วิกฤตสู้รบระหว่าง ยูเครน กับรัสเซีย สอนคนไทยทั้งประเทศให้รู้ว่า อย่าชักศึกเข้าบ้าน อย่าทำลายเสาหลักของประเทศ หยุดพึ่งพากลุ่มขั้วอำนาจจากต่างชาติ ในขณะที่ร้อยละ 7.3 ไม่เห็นด้วย

 

 

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 ระบุ ประเทศไทย จำเป็นต้องมีพันธมิตร กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เข้มแข็งไว้ถ่วงดุล ร้อยละ 92.1 ระบุ วิกฤตสงคราม รัสเซีย – ยูเครน มีผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ร้อยละ 91.2 ระบุ เสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคมโลก ไม่มีอยู่จริง ร้อยละ 91.1 ระบุ การรุกรานเอาประโยชน์จากประเทศที่อ่อนแอกว่า แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เกิดขึ้นตลอดต่อเนื่องมาในทุกรูปแบบ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรม และด้านการทหาร

ที่น่าสนใจส่วนใหญ่มีความกังวล คือ ร้อยละ 93.1 ระบุ ด้านมนุษยธรรม ภาวะจิตใจและการสูญเสียของเพื่อนมนุษย์จากความรุนแรง ร้อยละ 92.9 ระบุด้านเศรษฐกิจ จากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิต ร้อยละ 92.4 ระบุ ด้านความมั่นคง อาจขยายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมความมั่นคงและวิถีชีวิตซ้ำเติมโควิด ร้อยละ 91.6 ระบุ ด้านการเมืองระหว่างประเทศ การแทรกแซงและถูกบังคับให้เลือกข้าง และร้อยละ 89.3 ระบุ ด้านเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า การส่งออก และราคาน้ำมัน เป็นต้น

 

 

 

ที่น่าสนใจในความต้องการ คือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.6 ระบุ ต้องการให้มีการแสดงจุดยืน ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี กับเพื่อนมนุษย์ ร้อยละ 93.4 ระบุ ไม่ต้องการให้นำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากเป็นละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร้อยละ 93.1 ระบุ ทุกฝ่ายร่วมตระหนัก ตื่นตัว เรียนรู้และเตรียมรับมือกับปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน ร้อยละ 93.0 ระบุ ต้องการให้ทุกคน ทุกฝ่าย มีความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน และร้อยละ 89.2 ระบุ รัฐบาลและคนไทยทุกคนวางตัวและกำหนดท่าทีแสดงออกให้เหมาะสม เป็นกลาง

ทั้งนี้ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า โพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตสู้รบระหว่าง ยูเครน กับ รัสเซีย สะท้อนคนไทยทั้งประเทศ ตระหนักรู้ อย่าชักศึกเข้าบ้าน อย่าทำลายเสาหลักของประเทศ หยุดพึ่งพากลุ่มขั้วอำนาจจากต่างชาติ ยามวิกฤตอาจโดดเดี่ยวและจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง การรวมพลังสร้างความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นส่วนสำคัญให้ประเทศชาติเข้มแข็ง

 

 

“ที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่ยังมองด้วยว่า เสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคมโลกไม่มีอยู่จริง มีการรุกรานเอาประโยชน์จากประเทศที่อ่อนแอกว่า แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เกิดขึ้นตลอดต่อเนื่องมาในทุกรูปแบบ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรม และที่สุดอาจมีความเสี่ยงจากความรุนแรง ถึงขั้นใช้กำลังทหารยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งตามมาถึงผลกระทบด้านจิตใจและด้านมนุษยธรรม จากความยากลำบากและการสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ ทั้งนี้ ความรักสามัคคีและความตระหนักรู้ร่วมกัน จากบทเรียนยูเครน จะเป็นทางออกของการป้องกันและการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน”

Exit mobile version