เนติวิทย์เปลี่ยนป้ายคติธรรมคงความเป็นไทยฯวัดสวนแก้ว อ้างไม่ต้อนรับคนรุ่นใหม่

1601

จากกรณี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ นำทีมเข้าวัดสวนแก้ว เปลี่ยนป้ายคติธรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงการเมือง โดยอ้างให้ทันยุคสมัยใหม่นั้น

ทั้งนี้เรื่องราวดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยนายเนติวิทย์ ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Netiwit Ntw 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยระบุว่า “วันนี้ ผมและเพื่อนๆ ในสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีโอกาสไปกราบนมัสการพระอาจารย์ พยอม กัลยาโณ ที่วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี

นอกจากสนทนากับท่านเพื่อหาทางความร่วมมือที่สโมสรนิสิตจุฬาฯจะมีส่วนช่วยกิจการพัฒนาสังคมของท่าน เราก็มาส่งการบ้านท่านด้วย

กล่าวคือ สองอาทิตย์ก่อน ผมมาที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ได้เห็นถึงความร่มรื่น สภาพแวดล้อมที่ดี และเรียนรู้กิจกรรมเพื่อสังคมของที่วัด แต่ก็เหลือบเห็นป้ายคติธรรมต่างๆ ที่ติดตามต้นไม้ บางอันสึกหรอแล้ว บางอันล้าสมัยแล้ว อย่างข้อความเช่น

“ถ้าอยากเป็นชายจริงหญิงแท้ อย่าแปรเปลี่ยนประเพณี” หรือ “ถ้าอยากให้ไทยคงเป็นไทย อย่าทำลายวัฒนธรรม” ป้ายเหล่านี้คงติดมาไม่ต่ำกว่าสิบถึงยี่สิบปี อาจจะเคยสื่อสารกับสังคมยุคหนึ่งได้ แต่ไม่ใช่ในยุคนี้แล้ว

ป้ายพวกนี้ดูไม่เข้าใจบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป คุณค่าใหม่ๆที่เข้ามาในสังคม ไม่ต้อนรับคนรุ่นใหม่ นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งให้หลายๆวัดมีแต่คนแก่และต้องอนุรักษ์นิยมด้วยเท่านั้น

ผมกราบเรียนปรึกษาพระอาจารย์พยอมต่อประเด็นนี้ ท่านเห็นด้วยว่าข้อความในหลายๆ ป้ายล้าสมัยไปแล้ว ควรปรับให้เข้ากับสังคมร่วมสมัย ท่านให้ผมไปสรรหาถ้อยคำดีๆ มาติดแทน

ผมได้รับเรื่องนี้และประสานขอแรงระดมคิดจาก น้องๆเพื่อนๆนิสิตในแผนกสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยสรรหาข้อความที่เป็นประโยชน์ร่วมสมัยมาติดแทนข้อความเดิม

ดังที่เห็นในภาพ  เบื้องต้นพวกป้ายที่ดูมีปัญหาได้ถูกแทนที่ด้วยถ้อยคำของเนลสัน เมนดาลา, โสกราตีส, คาร์ล มาร์กซ์ รวมถึงคติพจน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยจะทยอยมาติดเพิ่มเติมต่อไป

หลังส่งการบ้านแล้ว พระอาจารย์พยอม ท่านก็ให้การบ้านเพิ่มว่า มีข้อความน่าสนใจของนักคิดนักเขียน ก็ขอให้พวกเราไปหาคติธรรมทางศาสนาคริสต์, อิสลาม, ซิกข์, ศาสนธรรมอื่นๆ จนถึงของคนไม่มีศาสนามาติดด้วย เพื่อให้นักเรียน หรือคนที่มาวัดได้เรียนรู้คติต่างๆ ให้มีแรงบันดาลใจไปค้นหาเพิ่ม จนถึงเกิดความตั้งใจพัฒนาตัวเองและสังคม”