ฝ่ายค้านมีหนาว! สภาฯ รับลงโทษส.ส.โดดประชุม จำกัดสิทธิลงลต.สมัยหน้า ปชช.จับตาปาหี่?

1319

ฝ่ายค้านมีหนาว! สภาฯ รับลงโทษส.ส.โดดประชุม จำกัดสิทธิลงลต.สมัยหน้า ปชช.จับตาปาหี่?

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการแสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วยการกดบัตร ระหว่างการประชุมสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณารายงานประจำปีของหน่วยต่างๆ ซึ่งผลปรากฏว่า มีผู้แสดงตนด้วการกดบัตร จำนวน 227 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องใช้เสียง 237 เสียง ทำให้นายชวน ต้องสั่งปิดการประชุมในเวลา 15.02 น. หลังจากใช้เวลาถกเถียงการนับองค์ประชุมนานถึง 30 นาที ซึ่งถือว่าสภาล่มครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของเดือน ครั้งที่ 17 ของสภาชุดนี้

ล่าสุด นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคกล้า ได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่า ด่วน! สภารับข้อเสนอโทษวินัยสส.โดด #ประชุมสภา #สภาล่ม ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมลงชื่อกัน วันนี้เสียงเหล่านั้นกำลังทำหน้าที่ดังกึกก้องทั่วสภา เสียงที่ปรารถนาเรียกร้องให้พรรคการเมืองหยุดใช้ช่องโหว่ เพื่อเล่นเกมส์บนความทุกข์ประชาชน เสียงที่ร้องขอให้ผู้แทนประชาชนทำหน้าที่อย่างมีวินัยครับ

โดยในหนังสือจากสำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ขอเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมเพิ่มโทษทางวินัยแก่สมาชิกที่บกพร่องในการทำหนัาที่ เนื่องจากสมาชิกหลายท่านไม่แสดงตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอให้หักเงินในวันที่สมาชิกไม่แสดงตน หากสมาชิกขาดการแสดงตนเกินร้อยละ ๒๕ ต้องถูกจำกัดสิทธิในการลงมติรับรองร่างกฎหมาย การอภิปรายในการประชุม ๒ ครั้ง และหากขาดการแสดงตนร้อยละ ๕๐ จะต้องถูกจำกัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และดำรงตำแหน่งข้าราชกา
รการเมือง ความละเอียงแจ้งแล้วนั้น

ในการนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎได้รับทราบแล้ว มีดำริให้ส่งเรื่องดังกล่าวข้างต้นไปยังคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาดำเนินการ จึงเรียนมาเพื่อทราบ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายพงศ์พล ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแพทย์ สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุม เพิ่มโทษทางวินัยแก่ ส.ส.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนแนวคิดนี้กว่า 8,000 รายชื่อ

โดยนายพงศ์พล กล่าวว่า ส.ส.คือตัวแทนประชาชน หน้าที่สำคัญตามที่รัฐธรรมนูญระบุคือ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ทำหน้าที่แทนประชาชนในทางนิติบัญญัติที่สำคัญยิ่ง แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่จริง ส.ส.หลายคนกลับไม่มาแสดงตัวที่สภา เป็นเหตุให้สภาล่มเพราะแสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาของสภาชุดนี้ ตั้งแต่ 24 ก.ค. 2562 ถึง 4 ก.พ. 2565 เกิดสภาล่ม ถึง 16 ครั้ง ผลาญภาษีประชาชนกว่า 66.8 ล้านบาท

หากเวลาในสมัยประชุมสภา ถูกใช้ไปกับสภาล่มไม่ว่าจะด้วยความไม่มีวินัย หรือฝ่ายใดจงใจทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เป็นการสิ้นงบประมาณแผ่นดิน และยังเป็นการเอาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ มาเป็นตัวประกันเพราะกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ต้องออกมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน ต้องหยุดชะงักเพราะสภาล่ม อาทิ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษา (17 ก.ย. 2564), ญัตติด่วนแก้ไขเรื่องวิกฤติ (1 ก.ค. 2564), ร่าง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ (15 ธ.ค. 2564), รายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ (17 ธ.ค. 2564), ร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (19 ม.ค. 2565), ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต สุรา (2 ก.พ. 2565) และอื่นๆ อีกมาก

“นักเรียนขาดเรียน ยังโดนตัดคะแนน พนักงานเงินเดือน ขาดงาน ยังโดนตัดเงิน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติที่รับเงินเดือนเต็มจากภาษีประชาชน แต่ขาดความรับผิดชอบในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ ควรต้องมีมาตรการลงโทษทางวินัย เราจึงเสนอเปลี่ยนข้อบังคับการประชุม เพิ่มบทลงโทษทางวินัย แก่ ส.ส.ที่ไม่แสดงตน คือ

1. การตัดเงินเดือนในวันที่ไม่แสดงตัว โดยคิดเป็นอัตรารายวัน คำนวณจากฐานเงินเดือน หารด้วยจำนวน 30 วัน หากไม่มีจดหมายลาแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

2. เมื่อ ส.ส.ท่านใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 25 จะถูกคาดโทษใบเหลืองคือ การจำกัดสิทธิในการโหวตรับรองร่างกฎหมาย และการอภิปรายในการประชุม 2 ครั้ง

3. เมื่อ ส.ส.คนใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 50 จะถูกคาดโทษใบแดงคือ การจำกัดสิทธิการสมัครลงรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ในสมัยเลือกตั้งหน้า”