จากที่มีกรณีเปิดใจครั้งแรก ของพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา หลังลี้ภัยจากไทยไปอยู่ออสเตรเลียนาน 6 ปี ภายหลังจากพรรคก้าวไกลอภิปรายโดย รังสิมันต์ โรม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น
ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เฟซบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่มีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการกลางบริหาร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เสนอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์
โดยมีเนื้อหาบางช่วงระบุว่า “พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 นับได้ว่าเป็นตัวอย่างของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี เพื่อทวงความยุตธรรมในคดีค้ามนุษย์ชาวโรงฮิญาอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลหรือเกรงกลัวอำนาจนอกกฎหมาย แม้จะถูกคุกคามหรือถูกข่มขู่ทำอันตรายถึงชีวิต
ถือเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างแท้จริง จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าบุคคลผู้เปี่ยมด้วยซึ่งคุณวุฒิและคุณธรรมเช่นนี้ กลับต้องถูกอิทธิพลและผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง จนถึงกับต้องลี้ภัยออกนอกมาตุภูมิของตน อีกทั้งยังไม่ได้รับความยุติธรรมใด ๆ ที่สมควรได้รับ
ตามเหตุแห่งพันธกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณธรรม จึงควรมีส่วนร่วมในการเชิดชูเกี่ยรติของ พล.ต.ต.ปวีณ ด้วยการขอพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยหากเปรียบเทียบกับผู้เคยได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ก่อนหน้านี้แล้ว พล.ต.ต.ปวีณ ถือได้ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งในด้านคุณวุฒิและคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นความซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่ยอมแพ้ต่อความไม่ถูกต้อง หรือความสามารถในการสืบสวนสอบสวนจนเป็นเหตุให้สามารถจับกุมผู้มีตำแหน่งระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็ตาม
หากพิจารณามติการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์โดยที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ การตัดสินใจมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่า พล.ต.ต.ปวีณ ก็สมควรได้รับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในการนี้ คณะกรรมการกลางบริหาร องค์การบริหารสโมสรนิสินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่า พล.ต.ต.ปวีณ สมควรได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับ พล.ต.ต.ปวีณ และเป็นตัวอย่างอันดีแก่สังคมให้เชิดชูบุคคลที่กระทำความดีโดยสุจริตและไม่หวังสิ่งตอบแทน
ความดีอันเกิดจากเนื้อแท้แห่งตน ผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และแม้ต้องเผชิญความยากลำบากแห่งการกระทำความดี ก็หาได้หยุดกระทำความดีนั้น แต่กลับยิ่งเร่งรดช่วยเหลือผู้คน จนต้องตะระกำลำบากดังเช่นที่ทุกคนทราบกันดี นอกนั้นแล้ว การมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ดังกล่าว ยังเป็นการประกาศถึงพันธกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนผู้กระทำความดีให้เป็นที่เชิดชูของสังคมต่อไป”
ทั้งนี้ภายหลังจากแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาสู่โลกโซเชียลฯ ทำให้มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำวนมาก ซึ่งมีข้อความหนึ่งที่มีความน่าสนใจเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของจุฬาฯ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่เข้ามาคอมเมนต์พร้อมเอกสารว่า
ตามข้อบังคับจุฬา เรื่องการให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปี 2555
1) มีการตั้งกรรมการเป็นผู้สรรหา โดยใช้วิธีปรึกษาหารือกับผู้บริหารคณะและหน่วยงานที่มีการให้ปริญญา
2) การปฏิบัติงานของกรรมการ ให้เป็นความลับโดยตลอด ซึ่ง อบจ. ไม่ใช่หน่วยงานที่ให้ปริญญา และ การประกาศสู่สาธารณะแบบนี้ไม่เป็นความลับ รวมถึงไม่ใช่หน้าที่ใดๆ ของอบจ.