Truthforyou

ตอกหน้าแก๊งปั่น! เปิดผลโพลปชช.ชม “รบ.บิ๊กตู่” แก้ค้ามนุษย์ ย้อน สหรัฐฯ จัดลำดับ “ไทย” ดีสุดในรอบ 9 ปี

ตอกหน้าแก๊งปั่น! เปิดผลโพลปชช.ชม “รบ.บิ๊กตู่” แก้ค้ามนุษย์ ย้อน สหรัฐฯ จัดลำดับ “ไทย” ดีสุดในรอบ 9 ปี

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล  เสนอผลสำรวจ เรื่อง การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,032 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 ระบุ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญต่อด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองมากกว่าอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการต่อต้านการค้ามนุษย์ ในขณะที่ร้อยละ 72.7 เห็นความสำคัญและตระหนักต่อเรื่องของมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน เสรีภาพและต้องการความคุ้มครองจากรัฐมากขึ้นในกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้หญิง

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 ระบุ การจัดอันดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ในหลายมิติทั้งด้านมนุษยธรรม เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 62.4 มองว่าเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 75.1 เชื่อมั่นว่า ความตั้งใจจริงของรัฐบาล การใส่ใจจริงจังในหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง มีส่วนสำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ในขณะที่ร้อยละ 24.9 ยังไม่เชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 93.7 ระบุ อยากให้ มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายที่ค้างอยู่ อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ร้อยละ 92.3 ระบุ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กับขบวนการค้ามนุษย์ที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติ ผู้ประกอบการที่บังคับ ข่มขู่ กักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนทรมานจิตใจ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด ร้อยละ 92.2 ระบุ อยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงไปดูแลและคุ้มครองสิทธิ์การบังคับแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การข่มขู่ บังคับ หน่วงเหนี่ยว และทรมานจิตใจ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 92.0 ระบุ ต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมาย บทลงโทษ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองเหยื่อที่กระทบทางด้านจิตใจ และร้อยละ 89.1 ระบุว่ายังมีช่องว่างของกฎหมาย การทุจริตและการละเว้นหน้าที่ ที่เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปแสวงประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้สะท้อนว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ตลอดจนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าการจัดอันดับเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ผลการศึกษาครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากการที่รัฐบาลโดย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ความสำคัญลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องทับซ้อนกับหลายหน่วยงานและต้องทำงานร่วมกันกับองค์กรระหว่างประเทศ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การป้องกันและการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลและทุกส่วนราชการต้องให้การช่วยเหลือและคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกเชื้อชาติเป็นการเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกันมากขึ้น เพื่อร่วมคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เหยื่อที่ได้รับการบังคับกดขี่ โดยเฉพาะการค้าประเวณี และการใช้ความรุนแรงที่ยังคงเหลืออยู่ และต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รับประโยชน์ รู้เห็นเป็นใจและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561 ประเทศไทยขยับอันดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์อยู่ที่เทียร์ 2 ดีที่สุดในรอบ 9 ปี หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 คือ ระดับต่ำสุด เมื่อปี พ.ศ. 2557-2558

การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 (Tier) เป็นการเปิดทางไปสู่การใช้มาตรการการคว่ำบาตรทางการค้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้ากุ้งและทูน่าจากไทย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลก และอาจทำให้บริษัทข้ามชาติบางแห่งทบทวนนโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ไทยยังอาจสูญเสียความช่วยเหลือจากสหรัฐฯที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าและไม่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม รวมทั้งอาจถูกสหรัฐอเมริกาคัดค้านไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก เนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์มีประเด็นที่เกี่ยวพันและยังคงอยู่ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาแรงงานต่างด้าว ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย, ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย, ปัญหาการค้าประเวณี โสเภณีเด็ก,ปัญหาขอทานเด็กและต่างด้าว, ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ (โรฮิงญา) เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อเนื่องครอบคลุมทุกมิติ เริ่มต้นจากการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน บูรณาการระบบการทำงานของทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้แก่ การแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างจริงจัง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิอันเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing การขึ้นทะเบียนแรงงานและเรือประมง มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย ครอบคลุมและตรงต่อการแก้ปัญหามากที่สุด และจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ดำเนินคดีการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดระยะเวลาดำเนินคดีจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ปี 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 ขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List), ปี 2560 คงสถานะเดิม เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) และปี 2561 เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2

และต่อมาในปี 2564 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่การประกาศผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) ประจำปี ค.ศ.2021  โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) ลดระดับจากเทียร์ 2 (กลุ่มประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ) เมื่อปี 2563

Exit mobile version