ไม่ใช่เรื่องเล็ก!? ราชบัณฑิตยสภา ประกาศแก้ไข ชื่อ “กรุงเทพฯ” อนุญาตให้ใช้ได้ 2 ชื่อ ขณะ ประชาชนเสียงแตก ทั้งค้านเดือด และเห็นด้วย!?
เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นที่พูดถึงและถกเถียงกันอย่างมาก จากกรณีเมื่อวันวันที่ 15 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่ราชบัณฑิตยสภา เสนอ พบมีการแก้ไขชื่อเมืองหลวงภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยเก็บชื่อเดิม (Bangkok) ไว้ในวงเล็บ
ล่าสุดทางด้านของ เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์ข้อความว่า “กรุงเทพมหานคร” ใช้ได้ทั้ง KrungThep Maha Nakhon และ Bangkok
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองและเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง แล้ว จะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป
ส่วน”กรุงเทพมหานคร” ยังคงใช้คำว่า KrungThep Maha Nakhon หรือ Bangkok ได้เช่นเดิม
ซึ่งต่อมาทางด้านของ ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าว ว่า
เมื่อคนเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ หรือติดต่อค้าขายระหว่างชาติ การท่องเที่ยว Bangkok คือชื่อเมือง คือBrand ของประเทศ เขียนย่อว่า BKK
ทุกชาติเรียกว่า Bangkok อย่าเปลี่ยนม้ากลางศึก
ขอชื่อคณะกรรมการที่ทำเรื่องนี้ด่วนเลย
จะสื่อสารคมนาคมกันว่ากระไร
มันผิดกาละเทศะ นะครับ
ประเทศยังยุ่งไม่พอหรือไร
ลองโทรศัพท์คุยระหว่างประเทศกับคนต่างชาติดูซีครับ ว่าให้ใช้ชื่อเมืองใหม่ สะกดตัวอักษรเมืองใหม่ไปด้วย
ชื่อ Bangkok กว่าจะทำให้รู้จักทั่วโลกและยอมรับกันใช้เวลาหลายสิบปีนะครับ เหนื่อยมาก
คนบางกลุ่มเอาไว้ใช้งานบางอย่างเท่านั้น
ครม คิดไม่เป็นเหรอ
เมื่อคืนไลน์ไปบอกเพื่อนต่างประเทศเรื่องนี้ ขำๆ
มันตอบกลับมาว่า อีเดียท สดิวปิด
ทำลายชาติด้วยความเขลา ไม่ทันโลก
นักเรียนมัธยมยุคนี้ยังรู้จักการสร้างแบรนด์กันเลย
เฮ้อ
ดร.สมเกียรติ โพสต์ อีกว่า
เรื่องเปลี่ยนชื่อกรุงเทพภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon ไม่ใช่เรื่องแค่ตลกอย่างที่เราคิดนะครับ
เพราะเมื่อมันเป็นมติ ครม. และประกาศของราชบัณฑิตฯ
เท่ากับว่า หน่วยงานราชการทั้งหมดต้องปฏิบัติใช้ตาม ตามระเบียบสารบรรณฯ ของสำนักนายกฯ
เมื่อทุกหน่วยงานราชการต้องปฎิบัติตาม เท่ากับป้ายทั้งหมดของราชการ ต้องเปลี่ยนตาม
คิดเป็นเงินเท่าไร ไม่อยากนับ ค่าทำป้ายเนี่ย
นอกจากนี้ ต่อไปในเอกสารราชการ ต้องเปลี่ยนจาก Bangkok เป็น krungthep Maha Nakhon จาก 7 ตัวอักษร เป็น 19 ตัวอักษร (รวมช่องไฟ 2 ช่อง เป็น 21 ตัวอักษร)
พื้นที่กระดาษและหมึกที่จะต้องเสียเพิ่มเติม คือ 3 เท่าตัว
ในปี 2014 มีงานวิจัยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนฟอนต์จาก Times New Roman เป็น Garamond ที่บางลง สามารถประหยัดเงินค่าหมึกพิมพ์และกระดาษไปได้ 234 ล้านดอลลาร์
ถ้าไทยจะต้องเปลี่ยนคำว่า Bangkok ทุกคำเป็น Krungthep Maha Nakhon จะสิ้นเปลืองเพิ่มปีละเท่าไร?
ซึ่งหลังจากที่มีประกาศออกมานั้น ได้มีประชาชนจำนวนมาก เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก
“คำถามคือ ทำไมต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วเกิดประโยชน์หรือไม่
ไหนจะคำอ่านของเมืองหลวงประเทศต่างๆอีก แทนที่จะอ่านตามภาษาอังกฤษให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกันทั่วโลก กลับให้อ่านตามภาษาถิ่นของแต่ละประเทศ
สรรหาทำอะไรที่เกิดประโยชน์โพดผลบ้างก็ดีนะครับ”
“ให้เลือกใช้ได้ทั้ง Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok ทำไมไม่ประกาศแบบ Rome, Roma ให้เลือกใช้คะ ประกาศ Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ก็ต้องตีความว่าต้องเขียนเต็มแบบนี้ ไม่ใช่เป็นการให้เลือกมากกว่าไหม”
“เข้าใจในเจตนาและให้กำลังใจนะครับ เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีเสียงต่อต้าน และจริงๆ กรณีนี้ก็เข้าใจว่าไม่ใช่การเปลี่ยนซะทีเดียว แต่เป็นการเพิ่มเติมมากกว่า คือเพิ่มคำอ่านของคำว่ากรุงเทพมหานครเข้ามา แต่ที่พาดหัวออกไปในสื่อส่วนใหญ่คือเหมือนว่าจะนำเอา Krung Thep Maha Nakhon มาแทนที่คำว่า Bangkok ไปเลย
มองในภาพกว้างๆ เราแทบจะเป็นประเทศเดียวเลยหรือเปล่า ที่ไม่อาจเรียกขานชื่อเมืองหลวงของตัวเองด้วยคำทับศัพท์ชื่อที่เราใช้จริงเป็นปกติได้ การบัญญัติคำถอดเสียงของ “กรุงเทพมหานคร” ไว้ก็น่าจะไม่เสียหายอะไร คือให้คนชาติอื่นๆ ได้รับรู้ด้วยว่าเรามีชื่อนี้เป็นชื่อทางการที่ใช้อยู่เป็นปกติ และยังได้วิธีการสะกดที่เป็นทางการ ไม่ต้องมาคาดเดาว่าถ้าจะถอดเสียงแล้วเป็น tep/thep หรือ nakon/nakorn/nakhon และเราก็ไม่ได้สูญเสียคำว่า Bangkok ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่เดิมแล้วไปด้วย”