ดีเดย์แล้ว!!กัมพูชาคุมเข้มออนไลน์ เริ่มซิงเกิลเกตเวย์ 16 ก.พ.นี้ คุมข่าวเท็จ-เก็บภาษี-จัดระเบียบสังคม

1379

ขณะประเทศไทยยังสาละวนในการจัดการปัญหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตรายกับความมั่นคงแห่งชาติ กัมพูชาเดินหน้าไปอย่างเด็ดขาด ดีเดย์แล้ว โดยรัฐบาลกัมพูชาเริ่มใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (เอ็นไอจี) แบบเดียวกับ “เกรตไฟร์วอลล์” ของรัฐบาลจีน ในวันที่ 16 ก.พ.2565นี้  หลังจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาลงนามจัดตั้งเมื่อ 16 ก.พ.ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของชาติ ช่วยเก็บภาษี จัดระเบียบทางสังคม วัฒนธรรมและประเพณีของชาติด้วย  แม้ถูกวิจารณ์ว่าเพื่อควบคุมอินเตอร์เน็ต ทำลายความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นเครื่องมือใช้ปราบผู้เห็นต่างก็ตาม

วันที่ 15 ก.พ.25654 สำนักข่าวเอเอฟพีและเดอะการ์เดี้ยน  รายงานว่าอินเตอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ หรือ เอ็นไอจีของกัมพูชา จะมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 16 ก.พ.นี้ระบบจะติดตามตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ทั้งหมดก่อนที่จะส่งถึงผู้ใช้บริการ องค์กรสามารถระงับและตัดการเชื่อมต่อได้ทันที  เมื่อเห็นว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม 

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างชี้ว่าการใช้ทางออกอินเตอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศ อาจเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดหากเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคหรือมีการโจมตีทางไซเบอร์ 

ขณะที่นายพาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชายืนยันว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ และรักษาความมั่นคงของชาติ

เขากล่าวว่า “ชาวกัมพูชาจำเป็นต้องเข้าใจว่า เสรีภาพในการแสดงออกมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และการดูหมิ่นหรือการจัดการข้อมูลสามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือชื่อเสียงของบุคคล”

ด้านฝ่ายที่เสียประโยชน์มากที่สุดในการถูกควบคุมโดยรัฐบาลก็คือกลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนสื่อ ออกมาโวย กลัวว่าเกตเวย์อาจเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเซ็นเซอร์ที่บังคับใช้ผ่าน Great Firewall แบบประเทศจีน ทางองค์กรสิทธิ์ตั้งคำถามว่าระบบของกัมพูชาในปัจจุบันมีความสามารถทางเทคนิคเพียงใด และมีกระบวนการนี้มีความโปร่งใสหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้ปริมาณการใช้ข้อมูลออนไลน์ทั้งหมดต้องผ่าน National Internet Gateway (NIG) ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าจะปกป้องความมั่นคงของชาติ ช่วยในการสร้างรายได้เข้าประเทศโดยการเก็บภาษี และรักษา “ระเบียบทางสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของชาติ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิกล่าวว่าอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่ง ที่ยังคงมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่ครองอำนาจมากว่าสามทศวรรษ ภายใต้การปกครองของเขา พรรคฝ่ายค้านถูกดำเนินคดี กล่าวหาทำผิดกฎหมาย สื่ออิสระถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะต้องเผชิญกับการปราบปราม

นอกจากนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานว่า เมื่อเกตเวย์สร้างเสร็จใกล้เข้ามา ชาวกัมพูชาจำนวนมากหันไปใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) เพื่อเลี่ยงการเซ็นเซอร์ออนไลน์

Top10VPN ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนความปลอดภัยดิจิทัลในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีความต้องการบัญชี VPN ในกัมพูชาเพิ่มขึ้น 56% ในเดือนธันวาคม 2564 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานของทางการที่ปราบปรามการใช้ VPN

ไซมอน มิกลิอาโน(Simon Migliano) หัวหน้านักวิจัยของกลุ่ม TOP10VPN กล่าวว่า“ เมื่อรัฐบาลจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระยะยาว การแบน VPN จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”