วิ่งสู้ฟัด!?ก.คลังมั่นใจจีดีพีโต4.5% ขณะส.อ.ท.ยันเอกชน ฟื้นเชื่อมั่นมา 5 เดือนเริ่มกังวลการเมืองฉุดรั้งเศรษฐกิจ

828

รมว.คลังยังลุ้นจีดีพีปี 65 โตได้ 3.5-4.5% ปักหมุด 10 ปี สร้างความยั่งยืนทางการคลัง เร่งขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ ด้านสภาพัฒน์ห่วงหนี้ครัวเรือน-เงินเฟ้อฉุดรั้งการเติบโต ด้าน ส.อ.ท. โชว์เชื่อมั่นเอกชนฟื้น 5 เดือนติด งวดม.ค.แตะระดับ 88.0 คาดการณ์ไตรมาสต่อไปยังสดใส แต่ภาคเอกชนเบื่อการเมือง รับกังวลสินค้าแพง น้ำมันพุ่ง

วันที่ 10 ก.พ. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 แต่หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาดก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้

ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น หากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือถึงเรื่องการปรับตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยใน 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นโยบายที่สำคัญของไทยคือการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 
  2. เทคโนโลยีดิจิทัล 
  3. การแพทย์ และบริการด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากบริการท่องเที่ยวควบคู่กับบริการด้านสุขภาพ ไปเป็นอสังหาริมทรัพย์ควบคู่บริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการดึงดูดและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น

4.การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

  1. การท่องเที่ยว ที่จะต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ 
  2. ความคุ้มครองทางสังคม คือการสร้างวินัยทางการเงิน การออม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมได้อย่างทั่วถึงในยามที่เกิดวิกฤติทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจฐานราก และ
  3. โครงสร้างประชากร และสังคมผู้สูงอายุ โดยต้องมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสม วางแนวทางเรื่องการทดแทนแรงงานในอนาคตที่จะลดลง การจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
  4. นโยบายการคลังในอนาคตหลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีภาระทางการคลังค่อนข้างมาก จากการจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ ความยั่งยืนทางการคลัง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง และการจัดเก็บรายได้ การเร่งขยายฐานภาษี ฐานรายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ 2. กรอบกติกาภาษีของโลกใหม่ ที่เน้นในการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ผ่านข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งจะช่วยความยั่งยืนด้านภาษี และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต

ขณะที่ทางด้านภาคเอกชนโชว์ค่าดัชนีความเชื่อมั่นสูงต่อเนื่องมาติดๆ 5 เดือนแต่เริ่มมาแกว่งเมื่อเกิดความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล ซ้ำเติมปัญหาค่าน้ำมันขึ้นกระทบราคาสินค้า เงินเฟ้อพุ่ง เป็นอุปสรรคการฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.2565ว่า แม้ว่า ค่าดัชนีเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 88.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 แต่เป็นที่น่าสังเกตเมื่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มกังวลสถานการณ์โควิด – 19 ลดลง แต่มองปัญหาราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากขึ้น

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า “สถานการณ์ล่าสุดทางการเมืองยอมรับว่า ลำบากมากขึ้น สภาฯล่มบ่อย ครม.เองก็มีปัญหา ความชัดเจนไม่ค่อยชัดเจน ซึ่งการยุบสภาเลือกตั้งใหม่บางทีภาคเอกชนก็ชอบนะ แต่เลือกตั้งแล้วอยากเห็นความเป็นเอกภาพทางการเมือง รัฐบาลใหม่ทำได้แค่ครึ่งหนึ่งจากที่หาเสียงไว้ก็พอ ตอนนี้การพึ่งพารัฐลำบากมาก คือ ที่มี ไม่มีมีเอกภาพ ถ้ามีเอกภาพได้ก็ดี โอกาสการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลมีเอกภาพ มีการล้างไพ่ใหม่ ซึ่งหลายๆท่านปรับเปลี่ยนวีธีการใหม่ มีคนใหม่ๆเข้ามา น่าจะส่งผลดีต่อภาคประชาชน ภาคเศรษฐกิจ คงไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว ถ้าเลือกตั้งใหม่เวลานี้เอกชนก็จะก้มหน้าก้มตาสู้ต่อไป”

ทั้งนี้ด้านข้อเสนอแนะต้องการเสนอให้ภาครัฐได้แก่

ควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เช่น มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง 

-รวมทั้งขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ , 

เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19

ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการเทส แอนด์ โก ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจเอทีเคผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วยอาร์ที – พีซีอาร์ เพราะวิธีใหม่เท่ากับว่า ต้องตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ 2 ครั้ง ทำให้ต้องเสียค่าโรงแรมเข้ามาตรวจ 2 ครั้ง ควรนำระบบเดิมมาใช้ คือ ตรวจอาร์ที – พีซีอาร์ 1 ครั้ง หลังจากนั้นให้ตรวจเอทีเค เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง