จากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.2 ฉบับ ที่นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และอดีต ส.ส.อนาคตใหม่ กับคณะเสนอ รวมทั้งการเสนอร่างกฎหมายสุราฯของพรรคก้าวไกลนั้น
ทั้งนี้ร่างกฎหมาย2ฉบับของพรรคภูมิใจไทย พบว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ ส่วนใหญ่โหวตสวน พรรคพลังประชารัฐ โดยลงคะเเนนเห็นด้วยแบบเดียวกับพรรคก้าวไกล
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการผลิตสุราไว้บริโภคเองได้ ที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะเสนอ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.พ. เนื่องจากครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ
โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้รัฐมนตรี รับร่างดังกล่าว กลับไปพิจารณาก่อนส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาภายใน 60 วัน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 207 เสียงไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
สำหรับ ผลการลงมติเห็นด้วย 207 เสียง ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ฝั่งรัฐบาล และเสียงไม่เห็นด้วย 196 เสียง ส่วนใหญ่เป็นเสียงของพรรคฝ่ายค้าน
รวมถึงยังมีส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 14 คน จากทั้งหมด 18 คน โดย ร.อ.ธรรมนัส และนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ ไม่ได้ร่วมลงมติ ขณะที่นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ไม่ได้ลงมติเช่นกัน ขณะที่นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองอีกคนก็มีมติโหวตเห็นด้วย
ต่อมานายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ไผ่ ลิกค์ ชี้แจงถึง 14 เสียงของพรรคเศรษฐกิจที่ร่วมโหวตหนุนกฎหมายสุราฯว่า
“วันนี้มีการโหวตในสภา เรื่อง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเรื่อง สุราก้าวหน้า รวมถึงเบียร์ การที่ทำให้ เอกชนหรือชาวบ้าน สามารถ ผลิตสุราได้ไม่ผูกขาดกับ เจ้าสัวใหญ่ ได้มีกระแสว่าทำไมพรรค เศรษฐกิจไทย ทำไมโหวตสวน เรามี 2 เหตุผลหลักๆ
1.เราต้องการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ต้องการให้เสียเวลาไปอีก 60วัน และพอย้อนกลับเข้ามาในสภา ต้องไปต่อคิวกฏหมายอีกเป็น 100 ฉบับ ยิ่งเสียเวลามากไม่แน่ใจจะทัน สมัยนี้หรือไม่
2.เราอยากส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ๆ การแปรรูปสินค้า ให้มีราคาสูงขึ้น อย่างการทำ สุรา พื้นบ้าน เช่น นำ้ขาว หรือ มี กลุ่มที่ทำ เบียร์ แบบใหม่ เหมือนในต่างประเทศ เกิดขึ้นเพื่อสร้างรายได้ รวมถึง ส่งขายต่างประเทศได้
ทั้งหมดคือการสะท้อนคำพูดของเราว่า ทางพรรคของเราจะทำอะไรต้องออกมาตอบชาวบ้านได้ และ ผลประโยชน์ของ ประชาชนเป็น สำคัญ ไม่ใช่ ละครฉากใหญ่เหมือนที่ใครๆพูด เดินตามหลักการ เกิดมาจากประชาชน สู้เพื่อประชาชน”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคเศรษฐกิจไทย เปิดเผยว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ประชุมหารือกับ 20 ส.ส. ที่โรงแรมพูลแมน ภูเก็ต ซึ่งมีบางช่วงที่สำคัญว่า ตอนนี้มีผู้แสดงเจตจำนงค์มาทำงานกับพรรคใหม่แล้ว 18 คน เหลือแค่ นายเอกราช ช่างเหลา นายวัฒนา ช่างเหลา และนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ซึ่งนายเอกราช ก็เดินทางมาร่วมหารือที่ภูเก็ตด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร โดย ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นผู้เปิดเผยความคืบหน้าเอง
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า นายเอกราช ได้เปิดเผยกับทาง “เนชั่นทีวี”ว่า กำลังจะกลับไปสมัครสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยในช่วงเย็นวันดังกล่าว