ปูตินประกาศ!!จีน-รัสเซียผงาด หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แกร่ง พร้อมฝ่าวงล้อมสหรัฐ-ต.ต.รับศึกทุกรูปแบบ

1017

วันที่ 3 ก.พ.2565 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และซินหัว รายงานว่าปธน.วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศถึง“ยุคใหม่”ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระดับโลก จากบทความของสำนักข่าวซินหัวของจีนที่เผยแพร่ก่อนการเดินทางเยือนปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง  ปูติน กล่าวว่าทั้งสองประเทศเป็น“เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดซึ่งผูกมัดด้วยประเพณีแห่งมิตรภาพที่มีอายุยาวนานหลายศตวรรษ และเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

ปูติน กล่าวถึงสัญลักษณ์ของการพบปะกับปธน.สี จิ้นผิง และปชช.ชาวจีนในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองวันตรุษจีนในช่วงเวลาเดียวกับการจัดการแข่งขันกีฬานั้น อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค การพิจารณาผลประโยชน์ของกันและกัน เป็นอิสระจากสถานการณ์ทางการเมืองและอุดมการณ์ ตลอดจนจากร่องรอยของอดีต

ปูตินย้ำว่า “ทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ท้าทายในปัจจุบัน ส่งเสริมการทำให้เป็นประชาธิปไตยของระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เพื่อให้มีความเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้นอย่างแท้จริง” เขากล่าวเสริมว่า “สิ่งนี้ขยายไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยรัสเซียและจีนขยายการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศอย่างต่อเนื่อง และสร้างกลไกเฉพาะขึ้นเพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบจากการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐ”

ปูตินเรียกจีนว่า“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของเราในเวทีระหว่างประเทศ”และกล่าวว่าเขาและสี “ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นแบบเดียวกันในการแก้ไขปัญหาของโลก”

“การเป็นหุ้นส่วนของเรานั้นยั่งยืน มีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ได้รับผลกระทบจากบรรยากาศทางการเมืองและไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ใคร มันได้รับการสนับสนุนจากความเคารพ คำนึงถึงผลประโยชน์หลักของกันและกัน การปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ”

 

คำพูดทั้งหมดที่ประกาศจากปธน.ปูตินสะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและจีนอย่างยากที่สหรัฐและพันธมิตรจะยุแหย่ให้แตกแยกได้ แม้ว่าจะมีความพยายามมากแค่ไหนก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ที่เตรียมเปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 4 ก.พ.นี้จะเป็นเวทีหนึ่งที่ส่องประกายมิตรภาพระหว่างจีนกับรัสเซีย ที่แน่นแฟ้นที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

ปักกิ่งเกมส์ถูกปธน.โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และพรรคพวกผู้นำชาติพันธมิตรตะวันตกด้อยค่า ด้วยการประกาศคว่ำบาตรทางการทูตการแข่งขัน โดยอ้างข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ทว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะมาปรากฏตัว ณ สนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามกีฬา“รังนก” ในวันนั้น พร้อมๆ กับแขกวีไอพีต่างชาติอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อแสดงการสนับสนุนจีนในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

ราวกับกระจกเงาสะท้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปีพ.ศ. 2557 หรือโซชีเกมส์ 2014 ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน มาร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน ตอนนั้นปูตินก็ถูกผู้นำชาติตะวันตกบางชาติวิจารณ์หนัก เกี่ยวกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย

จากนั้นในปีต่อ ๆ มา ปูตินและสี ก็หาโอกาสพบปะกัน รวมแล้วเกือบ 30 ครั้ง ผู้นำทั้งสองกลายเป็น “เพื่อนที่รักกันอย่างสนิทใจ” ตามที่สีอธิบาย และถึงแม้ปูตินถูกไบเดนฮึ่ม ๆ คว่ำบาตร หากขืนรุกรานยูเครน ผู้นำแดนมังกรก็พร้อมอ้าแขนสนับสนุน ต้อนรับผู้นำแดนหมีขาวอย่างอบอุ่นสมเกียรติในพิธีเปิดการแข่งขันวันศุกร์นี้

มอสโกว์เริ่มกระชับความสัมพันธ์กับปักกิ่งในรูปของหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539/1996 ซึ่งมีนัยถึงการต่อต้านการครอบงำโลกของสหรัฐฯ และชาติทั้งสองแก้ไขข้อพิพาทดินแดนระหว่างกัน โดยลงนามสนธิสัญญามิตรภาพในปีพ.ศ. 2544/2001 จากนั้น ร่วมกันสร้างกลไกความร่วมมือและโครงการต่าง ๆ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ( SCO) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง เพื่อสร้างเอกภาพในหมู่ชาติภูมิภาคเอเชียกลาง

นอกจากนั้น รัสเซียและจีนยังมีทัศนะตรงกันในการคัดง้างกับสหรัฐฯ ในประเด็นต่าง ๆ เช่นกรณีสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน เห็นได้จากการซ้อมรบทางทะเลระหว่างรัสเซีย, จีน และอิหร่าน ในอ่าวโอมาน เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งจัดขึ้นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2562/2019 หรือประเด็นที่รัสเซียส่งทหารไปช่วยคาซักสถานควบคุมเหตุประท้วงจลาจลในประเทศ

ในมุมมองของนักวิเคราะห์หลายคน รวมทั้งรศ. อาร์ตียอม ลูคิน แห่งมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์นเฟดเดอรัล ของรัสเซีย และรศ.หวัง ชิงสง ประจำศูนย์รัสเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสต์ไชนานอร์มัลนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในปัจจุบันมาถึงจุดแข็งแกร่งที่สุด โดยแข็งแกร่งรองจากมิตรภาพ ที่ชื่นมื่นระหว่างกันในช่วงทศวรรษ 1950 หลังจากจีนต่อสู้กับทหารอเมริกันและชาติพันธมิตรในสงครามเกาหลี

การเพิ่มแรงกดดันของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในยุโรปและในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกขณะนี้ ทำให้จีนและรัสเซียก้าวสู่ภาวะที่ต้องหันหลังชนกันในสมรภูมิยูเรเซีย โดยต่างก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การทหาร และแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ คอยช่วยเหลือพึ่งพากันได้อย่างน่าเกรงขาม

ดังนั้น หากสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายสกัดกั้นปิดล้อมทั้งรัสเซียและจีนพร้อม ๆ กันแบบทุกวันนี้ต่อไป ความร่วมมือระหว่างชาติทั้งสองก็ยิ่งพัฒนาไปไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ไร้ขีดจำกัด เสมือนพญาหมีกับพญามังกรที่กลายร่างดั่งพยัคฆ์ติดปีกได้ในที่สุด

โลกยังคงต้องจับตา กลยุทธ์ปิดล้อมปราบปรามที่มหาอำนาจสหรัฐที่เคยครองความเป็นใหญ่แบบเดี่ยวในโลกจะใช้กับจีน-รัสเซียต่อไป ซึ่งแน่นอนการดิ้นรนครั้งใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง