ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา อุทยานแห่งชาติได้เปิดให้ท่องเที่ยวภายในประเทศแล้วเกือบทุกจังหวัด หลังการประชุมครม.สัปดาห์ก่อน ได้มีมติเห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย แก่ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนแห่งใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเดิมได้ขี้นทะเบียนแล้ว 6 แห่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ สงวนไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติแก่ชนรุ่นหลังต่อไป
อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศหลายแบบ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าเขาหินปูน และป่าพรุ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีพืชเฉพาะถิ่นและพืชหายาก เช่น บัวผุด ดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ เขาหินปูนขนาดใหญ่ 3 ลูก ตั้งอยู่ผืนน้ำสีเขียวมรกตของเขื่อนรัชชประภา ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และมีวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม
อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศหลากหลายเฉพาะตัว เช่น ป่าเบญจพรรณ สังคมพืชริมน้ำ ฯลฯ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิด มีลักษณะภูมิประเทศทั้งเทือกเขาสูง เขาหินปูน และตะลักพักน้ำ ซึ่งเป็นที่ราบแคบ มีระดับลดหลั่นกันลงมาเหมือนขั้นบันได มีระบบนิเวศถ้ำที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณะ โดยเฉพาะ “ถ้ำหลวง” ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของไทย (ระยะ 10,316 เมตร) และมีลักษณะของภูเขาเรียงตัวกันคล้ายกับรูปผู้หญิงนอน มีปล่องโพรงเป็นจำนวนมาก มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ “สระมรกต” มีลักษณะเป็นน้ำสีเขียวแกมฟ้ามรกตที่ไหลออกมาจากถ้ำทรายทองและรอยแตกของภูเขาบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ มีชุมชนและชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ถึง 10 ชาติพันธุ์ เช่น อาข่า ไทใหญ่ เป็นต้น ทำให้เป็นพื้นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม
อุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks) คือ “พื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค ” อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน มีลักษณะพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ เป็นตัวแทนของภูมิภาค มีคุณค่าโดดเด่น ได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดจากประเทศสมาชิกว่าสมควรอนุรักษ์และยกย่องไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากล
อุทยานมรดกแห่งอาเซียนนั้น มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คือ
-มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ
-มีความเป็นตัวแทนของภูมิภาค
-มีความเป็นธรรมชาติ
-มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง
-มีขอบเขตทางกฎหมายอย่างชัดเจนในด้านความเชื่อมโยงระหว่างพรมแดน
-มีความเป็นเอกลักษณ์
-มีความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม
-มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ (1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2527 (2) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2527 (3) กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2546 (4) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2546 (5) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2562 (6) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2562
ในการนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานผู้ประสาน จะจัดส่งเอกสารการนำเสนอพื้นที่ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เพื่อนำเสนอเอกสารให้กับคณะผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป
…………………………………….