Truthforyou

รัฐยันจัดระเบียบคริปโตฯ!เอกชนยังโอดเร็วไป สรรพากรย้ำทำธุรกิจมีรายได้ การเสียภาษีเป็นหน้าที่

อธิบดีกรมสรรพากรเปิดรายละเอียดแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ยันผู้มีรายได้จากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี ต้องเสียภาษี แต่กรมฯยอมให้นำกำไรขาดทุนมาหักกลบได้ พร้อมยกเว้น หัก ณ ที่จ่าย 15% และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ Exchange ที่กำกับโดย ก.ล.ต.

วันที่ 31 ม.ค.2565 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีคริบโตเคอร์เรนซีว่า เรื่องนี้ เกิดตั้งแต่ปี 2561 กฎหมายบอกว่า คริปโตเคอร์เรนซี เป็นอะไรแน่ เป็นเงิน หรือเป็นอะไร ก็มีกฎหมายกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และถูกกำกับโดย ก.ล.ต.จึงมีประเด็นภาษีตามมา เมื่อเป็นสินทรัพย์แล้ว เวลาขายสินทรัพย์ออกไป ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เมื่อขายแล้วมีเงินได้ ก็ต้องเสียเงินได้ต่อจะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ฉะนั้น เมื่อเป็นสินทรัพย์แล้ว เมื่อมีการขายมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีเงินได้ ก็ต้องมาคำนวณภาษีเงินได้

กฎหมายปี 2561 ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ให้หัก ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งกรณีนี้คนเข้าใจผิดเยอะมาก คิดว่า เสียภาษีคริปโตเคอร์เรนซี  15% แต่เป็นการหัก ณ ที่จ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่า เสีย 15% ผู้มีรายได้จะต้องนำรายได้ที่เกิดจากการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี ไปคำนวณภาษีตอนปลายปี ซึ่งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 0-35%

“ฉะนั้น กฎหมายบอกว่า เป็นสินทรัพย์ การขายก็เกิดภาษี มีรายได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ และต้องหัก ณ ที่จ่าย 15% และนำรายได้มารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบในช่วงปลายปี ซึ่งผู้มีรายได้อาจจะมีลดหย่อนต่างๆ ท้ายที่สุด อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้”

ทั้งนี้ จากปี 2561 ถึง ปัจจุบัน มีพัฒนาการเกี่ยวกับการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เยอะมาก ได้แก่

1.คนเทรดจากเมื่อต้นปีที่แล้วอยู่ที่ 1.7 แสนคน ปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 2 ล้านบัญชี 

2.ผลิตภัณฑ์คริปโทเคอร์เรนซี มีความหลากหลายมาก ฉะนั้น กฎหมายระบุไว้ อาจตามไม่ทัน ด้วยความหวังดีของกรมฯ เมื่อต้นปีเราทำแบบการยื่นแบบที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีรายได้จากกำไรเทรดคริปโทเคอร์เรนซี เขียนไว้ด้วย จึงเกิดดราม่าว่า กรมฯ เข้ามาเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี  ทั้งที่เราเก็บมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า มีปัญหาเกิดขึ้นจริง 

เรื่องที่ 1.กฎหมายเขียนไว้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มีExchange ไม่มีบิทคับ สมัยก่อนการซื้อขายรู้ตัวบุคคล แต่ตอนนี้ ไม่รู้ ผู้ซื้อขายไม่รู้จักกัน ทั้งนี้ กฎหมายปี 2561 กำหนดให้ผู้ซื้อเป็นคนหัก ที่ จ่าย 15% จากกำไรของผู้ขาย แต่ตอนนี้ ไม่รู้ใครขาย ก็หัก ณ ที่จ่ายไม่ได้

2.เรื่องหักกลบผลกำไรขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้มีคำอธิบายว่า เมื่อปี 2561 กฎหมายเขียนให้เก็บจาก Capital gain แต่หากมีการวางแผนภาษี ก็จะไม่เสียภาษีตัวนี้ ถือเป็นการตั้งใจหลบภาษี ฉะนั้น หลักภาษีสากลคือ คิดจาก transaction ไม่ยอมให้มาหักกลบ แต่วันนี้ เมื่อมีตลาดเกิดขึ้น คนก็เทรดกันตลอดเวลา ก็มองว่า ไม่แฟร์ทำไมไม่หักกลบ เราก็ไปศึกษาต่างประเทศ เลยหาทางออกว่า ถ้าเป็น Exchange ที่หักกลบถ้าอยู่ในตลาดที่ก.ล.ต.กำกับเรายอมให้หักกลบได้ ก็เป็นแนวทางสากล

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้น 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วมกับสมาคมดิจิทัลต่างๆ เรามาตกลงกันว่า จะทำ 3 สิ่งเพื่อแก้ปัญหาคือ 1.ทำให้ชัดคือ จัดประเภทเงินได้เป็นอะไรแน่ และคำนวณอย่างไร 2.ต้นทุน เอามาตรฐานทางบัญชีมาใช้คือ เข้าก่อนออกก่อน หรือต้นทุนเฉลี่ยก็ได้ เลือกเอาบัญชีไหนก็ได้ 3.ตัววัดมูลค่าสินทรัพย์จะวัดว่าได้เหรียญ ณ เวลาที่ได้มา หรือถัวเฉลี่ยก็ได้นี่คือ สิ่งที่ทำให้ชัดภายใต้กฎหมายปัจจุบัน”

3.กรณี หัก ณ ที่จ่าย 15% นั้น กฎหมายเขียนไว้ชัดให้มีการจัดเก็บ แต่องค์ประกอบของการหัก ณ ที่จ่ายคือ ต้องรู้ผู้รับเงิน จำนวนเงิน ฉะนั้น ถ้าเทรดใน Exchange จะไม่รู้ผู้รับ ผู้ซื้อเป็นใคร กำหนดจำนวนไม่ได้   ฉะนั้นก็ไม่มีหน้าที่ต้องหัก ก็ถือว่า ไม่เข้าองค์ประกอบ

“ย้ำอีกครั้งว่า ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ใช่ 15% และไม่ใช่ Final Tax  โดย 15% เป็นการหัก ณ ที่จ่าย เท่านั้น ซึ่งต้องนำมาคำนวณรายได้ภายในปี เพื่อยื่นแบบชำระภาษี ซึ่งอาจจะได้รับเงินคืนภาษีก็ได้”

4.เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีตัวนี้ แต่การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีไม่รู้จะออกใบกำกับภาษีให้ใคร กรมฯ แก้ปัญหาด้วยเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับExchange ที่กำกับโดยก.ล.ต. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ฉะนั้น ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องกังวล

ก่อนหน้านี้ 3 หน่วยงานกำกับดูแลถึงกับออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืน “ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment : MOP)”

ที่ผ่านมา เริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา การถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายไม่ได้กำหนดให้ลูกค้าต้องยืนยันตัวตน

รวมทั้งยังอาจจะกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ ซึ่งจะส่งผลลดทอนความเชื่อมั่นของเงินบาทและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินอีกด้วย

ในมุมของหน่วยงานรัฐ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมดูเหมือนไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในองค์รวม คุ้มครองป้องกันประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ตรวจสอบยาก และที่สำคัญกำลังกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการฟอกเงินผิดกฎหมายทั่วโลก

Exit mobile version