เอกชนเฮ!! ฟื้นสัมพันธุ์ไทย-ซาอุเลิศ ดันเศรษฐกิจโต ส่งออกพุ่ง 1.66 แสนล้านบาท

1266

วันที่ 28 ม.ค.2565 สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ระบุชัดการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย จะช่วยให้การค้าของประเทศกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การค้าและการลงทุน

ปี 2564ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้านดอลล่าร์ประมาณ  4.99 หมื่นล้านบาท หรือ 0.6%ของการส่งออกทั้งหมด แต่หากไทยเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ กลับมาที่ 2.2% เหมือนในปี 2532  หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.66 แสนล้านบาท

ซาอุฯ ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนยุทธศาสตร์จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับไทยในการส่งออกสินค้า โดยสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 27.5%ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯ ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยเช่นกัน

การเดินทางเยือนซาอุฯของนายกฯ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจเป็นงจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยทำให้การค้าของประเทศกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง พร้อมประโยชน์มหาศาลที่ไทยจะได้รับไว้

ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยประมาณ 40 ล้านคน โดยมาจากตะวันออกกลางประมาณ 7 แสนคน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯเพียง 36,000 คน

ดังนั้น หากมีการเปิดประเทศ จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯมาได้เพิ่มขึ้น หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯก่อนเกิดปัญหามีกว่า 73,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2530-2531) คาดว่าจะนักท่องเที่ยวซาอุฯจะเดินทางมาไทยประมาณ 150,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 13,500 ล้านบาท (คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุฯ 90,000 บาทต่อราย ในปี 2562)

ด้านตลาดแรงงาน ซาอุฯเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง ในช่วงปี 1970-1980 ทางการไทยประเมินว่าช่วงนั้นมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในซาอุฯ (ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) มากถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับประเทศไทยเฉลี่ย 9,000 ล้านบาทต่อปี

การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯครั้งนี้ จะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปทำงานในซาอุฯอีกครั้ง เนื่องจากซาอุฯยังมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแรงงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของซาอุฯ

ดังนั้น เมื่อซาอุฯเปิดให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานอีกครั้ง คาดว่าจะมีแรงงานไทยในซาอุฯเพิ่มขึ้นจาก 10,000 คนในปัจจุบัน เป็น 100,000 คน ในระยะ 3 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน ในระยะ 5 ปี เท่ากับปี 2532 ซึ่งจะมีรายได้ส่งกลับประเทศ 4,500-9,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านการลงทุน แม้ว่าโอกาสที่ซาอุฯจะขยายการลงทุนทางตรงมายังประเทศไทยในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศฟื้นฟูขึ้น ก็จะทำให้นักธุรกิจมีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกัน จะช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจซาอุฯนำเงินมาลงทุนยังประเทศไทยทั้งในระยะกลาง และระยะยาว

ปัจจุบันซาอุฯมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่มสัดส่วนจีดีพี จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 65 นอกจากนั้น แผนปฏิรูปดังกล่าวยังต้องการเพิ่มจีดีพีการส่งออก (ในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน) จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 พร้อมวางเป้าหมายที่จะลดอัตราการว่างงานจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 7

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้แผนการปฏิรูปเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนระหว่างกัน ซึ่งทั้งไทยและซาอุฯสนใจลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้น ทางซาอุฯยังมีโอกาสที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคนี้มาที่ประเทศไทยด้วย

ล่าสุดทางได้หอการค้าพบปะพูดคุยนายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลี อุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ เศรษฐกิจ การค้า และหารือโอกาสความร่วมมือระหว่างกันแล้ว