สามนิ้วดูไว้! ทูตนอกแถว กลับลำยอมรับแล้ว ชม “ผลงานโบว์แดง รัฐบาลบิ๊กตู่” ช่วยฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

1856

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และเจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ได้เขียนข้อความระบุว่า

มีอะไรเบื้องหลังการเยือนซาอุดีอาระเบีย? เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังนี้ หลายคนอยากฟังเรื่องการไปเยือนซาอุดีอาระเบียของผู้นำไทยที่ผ่านมา ซึ่งก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีกับพัฒนาการนี้ การกลับมามีความสัมพันธ์ขั้นปกติและที่ดีกับซาอุดีอาระเบียจะอย่างไรถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและเป็นสิ่งที่น่ายินดีครับ ส่วนที่คนดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ออกมาให้ข่าวว่าเรื่องนี้เป็นผลงานล้วนๆ ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อันนั้นจะจริงเท็จแค่ไหนนั้น คงต้องว่ากันอีกที

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นอย่างค่อนข้างกะทันหัน และทำให้หลายคนแปลกใจ รวมทั้งไม่ทราบสาเหตุแท้จริงที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนจะมาจากการตัดสินใจของทางซาอุดีอาระเบียที่เป็นคนเชิญเอง และที่ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ผมมีข้อสังเกตว่าไปเยือนคราวนี้ ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายบินไปหาเขา แต่ไม่ได้ถูกจัดให้เข้าพบกษัตริย์-นายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียแม้สักนิด ซึ่งแลดูไม่ค่อยสมศักดิ์ศรี หรือก็คือเขาก็ไม่ได้ให้เกียรติอะไรเรานัก ไม่ทราบว่า ทำไมไม่สามารถเจรจาให้มีโอกาสเข้าพบกษัตริย์-นายกรัฐมนตรีของเขาเลย

แล้วก็เห็นภาพนายกรัฐมนตรีไทยไปยืนยกมือไหว้ฝ่ายเขาแปลก ๆ ทั้งที่เทียบระดับเขาต่ำกว่าก็อดขำขื่น ๆ ไม่ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยินดีด้วยนะครับในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองนี้

แต่ล่าสุดนายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และเจ้าของเพจ ทูตนอกแถว ได้ออกมายอมรับว่า การเยือนซาอุฯ นั้นถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่ฟื้นความสัมพันธ์ 2 ประเทศได้ โดยโพสต์ข้อความระบุว่า “ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะเขียนต่อ แต่โพสต์ก่อนหน้าได้รับ feedback เยอะมาก ทั้งบวกและลบ ตลอดจนข้อสังเกตและท้วงติงอื่นๆที่น่าสนใจซึ่งผมขอน้อมรับด้วยดี พอดีกับมีประเด็นอื่น ๆ ที่นึกได้อีก เลยอยากนำมาคุยกันต่อนะครับ

ดังที่ได้เขียนไปแล้วก่อนหน้า และผมขอย้ำอีกครั้งว่า จะอย่างไรเรื่องการเปิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทย ถือเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปว่านายกรัฐมนตรีของไทยควรได้พบกษัตริย์ นายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียด้วย (ซึ่งมีคนแย้งว่ามงกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีคือคนที่มีอำนาจทั้งหมด พบแค่นี้จึงเท่ากับให้เกียรติแล้ว) อันนี้ผมก็พูดตามธรรมเนียมหลักปฏิบัติสากลทางทูตตามปกตินะครับ ซึ่งการพบปะหารือกับมงกุฏราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีนั้นก็ถูกแล้ว แต่ปกติถ้าจะให้เกียรติตามธรรมเนียมปฏิบัติกันจริง ๆ ก็ควรต้องพบผู้นำสูงสุดของเขาด้วย

ภาพที่อออกมา ซึ่งรวมทั้งพิธีการต้อนรับต่าง ๆ ที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียจัดให้ แลดูอยู่ในสเกล รูปแบบที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการเยือนอย่างเป็นทางการทั่วไปมาก เช่นไม่มีการตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ พรมแดง ฯลฯ หลายๆคนรวมทั้งผมจึงอดมองไม่ได้ว่าเขาไม่ได้ให้เกียรติเราเท่าใดนัก

แต่เรื่องนี้มันก็มองได้อีกว่าเพราะความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ณ ขณะการเยือนยังไม่ได้ถือว่าอยู่ในขั้นปกติ พิธีการต่าง ๆ จึงถูกลดทอนลงไปมาก ซึ่งก็ทำให้คิดได้อีกว่าถ้าเราส่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศไป ซึ่งก็คือระดับเดียวกับฝ่ายของเขา จะเหมาะสมกว่าไหม เมื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ปกติระหว่างกันเรียบร้อยแล้วค่อยให้นายกรัฐมนตรีไปเยือนอย่างสมเกียรติ

แต่ก็เข้าใจล่ะว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีต้องการไปเองเพื่อสร้างผลงาน และแม้จะดูไม่สมเกียรตินักแต่ถ้าไปแล้วมีส่วนช่วยให้การเดินหน้ารื้อฟื้นความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี ก็เอาเถอะครับ และก็ถือได้ว่านี่เป็นผลงานหนึ่งของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าคงไม่ใช่ของแกเพียงคนเดียวล้วน ๆ อย่างที่มีผู้พยายามบอก

ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมผมก็เห็นข้อความที่ระบุว่าในข้อ 4.ว่า “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน” ซึ่งผมทราบว่าได้มีความพยายามดำเนินการในเรื่องนี้มาหลายยุค ทั้งในระดับกระทรวงการต่างประเทศ และโดยหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

เอาเป็นว่าส้มมาหล่นเอาในยุคนี้ ก็ไม่ว่ากันนะครับ เพราะจะอย่างไรก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อีกเรื่องที่มีผู้ทักท้วงมา คือเรื่องนายกรัฐมนตรีไทยยกมือไหว้มงกุฎราชการ รองนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการทักทายในยุคโควิด และตามมารยาทของไทย ซึ่งตรงนี้ผมก็เห็นว่ามีประเด็นอยู่ แต่เท่าที่ผมเคยเห็นที่เขาปฏิบัติในยุคโควิดถ้าไม่จับมือ บางทีก็เอาข้อศอกแตะกัน หรือบางทีผมเห็นหลายประเทศใช้มือขวาทาบอกซ้ายก็มี

และเท่าที่ได้ยินมาเหมือนว่ามงกุฏราชกุมารเขายื่นมือออกมาจะจับแล้ว ก็น่าจะจับมือกับเขาได้ แต่ฝ่ายเราเลือกยกมือไปไหว้แทน ซึ่งจะว่าไปในยุคโควิดนี้ก็โอเคและไม่ใช่สาระสำคัญนัก แต่เรื่องนี้ในการเตรียมการการเยือน ทางฝ่ายพิธีการน่าจะควรแจ้งและตกลงกันก่อนว่าจะใช้วิธีทักทายกันแบบไหนแน่ ก็จะช่วยให้ดูราบรื่นไม่เคอะเขินนัก

***(ขอแก้ไขเพิ่มเติมตามที่เพิ่งได้รับแจ้งมาว่าเรื่องไหว้ เราแจ้งฝ่ายซาอุฯ แล้วครับว่าจะให้นายกรัฐมนตรีไหว้ แต่ทางสำนักพระราชวังคงไม่ได้ไปบรีฟมกุฎฯ เองส่วนกองทหารเกียรติยศ ตกลงกันทั้งสองฝ่ายจะเป็นตรวจแถวและเคารพเพลงชาติทั้งสองฝ่ายกัน)

ท้ายสุดเมื่อนั่งอ่านแถลงการณ์ และใช้เวลาตรองมากขึ้น ก็มาคิดได้ว่า ที่พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องหลังว่าทำไมจู่ ๆ มันจึงเกิดขึ้น และมันน่าจะมีอะไรมากกว่าที่เห็นไหมนั้น เอาเข้าจริง มันก็อาจเป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ คือมันก็เป็นไปได้ว่าทุกอย่างมันมาอย่างพอเหมาะพอเจาะช่วงนี้พอดี ไม่ได้มีอะไรเบื้องหลังหรือลึกอะไรมากไปกว่าที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียซึ่งปัจจุบันเป็นอีกสายกับราชวงศ์เดิมและเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ยึดติดกับอดีตนัก ต้องการขยายความร่วมมือใหม่ ๆ รวมทั้งกับไทยด้วย

จึงกลายมาเป็นการเยือนครั้งนี้ และแม้ว่าในแง่ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศต่างมีปัญหาด้านสิทธิมนุษย์ชนอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้คงไม่ด้วยช่วยอะไรในแง่นี้ แต่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ได้ย่อมมีผลดีทางเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน และแม้มันก็เหมือนส้มหล่น แต่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งผลงานของรัฐบาลปัจจุบันอยู่ดี แต่ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้มีที่มาอย่างชอบธรรม มีความสง่างามเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (ไม่ใช่บนกฎกติกาที่แสนจะเขย่ง มี ส.ว. 250 ที่แต่งตั้งเองมาโหวตให้ รวมทั้งการแจกกล้วยต่าง ๆ ที่ผมมองว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือความชอบธรรมที่สง่างามแต่อย่างใด) เชื่อว่าประชาชนชาวไทยทั่วไปคงจะดีใจกว่านี้อีกมาก”