เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ อธิบายเกล็ดความรู้เกี่ยวกับพระปรมาภิไธย “ภปร” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พวกเราอาจไม่เคยรู้ ผ่านเฟสบุ๊ค โดยระบุข้อความว่า
..พระปรมาภิไธย ”ภปร”ที่พวกเราอาจไม่เคยรู้
พวกเราคนไทย เห็นพระปรมาภิไธย ”ภปร” มาทั้งชีวิต แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ภปร ย่อมาจากอะไร
วันนี้ผมต้องขออนุญาต อจ อัษฎางค์ ยมนาค ผู้รวบรวม เรียบเรียง และขอเผยแพร่ เป็นความรู้ ต่อไปในฐานะพวกเราเป็น พสกนิกร ของพระองค์ในพระราชอาณาจักรไทย
อาจารย์ อภิวัฒน์ โควินทรานนท์อธิบายเรื่อง พระปรมาภิไธย ภปร. ให้เพื่อนฟัง เห็นว่าน่าสนใจ จึงได้ขออนุญาตนำมาเผยแพร่
พระปรมาภิไธย ภปร.ทุกคนรู้ว่าคือ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แต่กลับไม่มีใครรู้ว่า ภปร.ย่อมาจากอะไร
ภปร.นั้น เมื่อก่อนเราเรียก ” พระปรมาภิไธยย่อ ” แต่เดี๋ยวนี้ยุติให้เรียกว่า ” อักษรพระปรมาภิไธย “
ภปร.ย่อมาจากอะไร?
ภ.ย่อมาจากพระนาม “ภูมิพล” แน่นอน
แล้ว ป.ร. ย่อมาจากอะไร?
ป.ร.นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช เคยกล่าวเอาไว้ว่า ป.ร.นั้นสำคัญนักหนา ถ้าไม่มี ป.ร. ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน !
ป.ร.ย่อมาจาก ” ปรมราชาธิราชา “
ซึ่งพอทุกคนได้ยินได้เห็นต้องพูดว่า เกิดมาไม่เคยได้ยิน
………………………………………………………………….
ปรมราชาธิราชา นั้นเป็นภาษาบาลี มีความหมายเดียวกันกับ “บรมราชาธิราช” ในภาษาไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์อยุธยา ใช้พระนามนี้อยู่ ถึง ๔ พระองค์ คือ พระบรมราชาธิราชที่ ๑-๔
ดังนั้น “ภปร.” ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ” ภูมิพล บรมราชาธิราช ” ซึ่งควรจะย่อเป็น “ภบร”
แต่เราไม่เคยเขียนว่า “ภบร” เราเขียนว่า “ภปร.”
ซึ่ง”ภปร”นี้เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย เพราะฉะนั้น “ภปร” จึงย่อมาจาก “ภูมิพโล ปรมราชาธิราชา”
………………………………………………………………….
ทำไมต้องเป็น “ภูมิพโล”
เพราะพระนาม “ภูมิพล” เป็นภาษาไทย
แต่ “ปรมราชาธิราชา” เป็นภาษาบาลี
จึงต้องเปลี่ยนคำว่า “ภูมิพล” ในภาษาไทยให้เป็น “ภูมิพโล” ตามอักขระวิธีของภาษาบาลีด้วย จึงจะสอดคล้องต้องกัน ดังนั้นคำเต็มที่ถูกต้องของ ภปร.คือ “ภูมิพโล ปรมราชาธิราชา “
………………………………………………………………….
ภปร.นั้น ย่อมาจากภาษาบาลี ไม่ได้ย่อมาจากภาษาไทย สูงส่งกว่าที่เราคิดนะครับ
ประวัติความเป็นมาของ อักษรพระปรมาภิไธยนั้น เริ่มมาจากในรัชกาลที่ ๔ ได้มีพระราชสาสน์ ติดต่อกับฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงลงพระนามและลงตำแหน่งว่า REX ทั้งนี้สำหรับฝรั่ง ถ้าอะไรที่ขลังๆต้องใช้ภาษาลาติน Rex เป็นภาษาลาติน แปลว่า King
ซึ่งในขณะที่ฝรั่งมีภาษาลาติน ที่นิยมใช้สำหรับศัพท์สูงแล้ว ไทยเราก็มีภาษาบาลี-สันสกฤต ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ใช้ ป.ร. ระบุตำแหน่ง กำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
และคำแปลของ ” ปรมราชาธิราชา ” คือ ” King of Kings ” ถือเป็นการเกทับฝรั่งเสียเลย
………………………………………………………………….
ม.จ. จุลเจิม ยุคล