เตรียมรับแรงกระแทก!เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมี.ค. อาจคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ กระทบเศรษฐกิจฟื้นช้า

1035

“เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ #FED ส่งสัญญาณ #ขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ เพราะผลกระทบของ #โควิด19 ระบาด ราคาสินค้าและค่าบริการได้พุ่งขึ้นเป็นวงกว้าง ชี้อาจปรับขึ้นมากกว่า 0.25% ซึ่งไอเอ็มเอฟส่งเสียงเตือนว่ากระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียให้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะต้นทุนการเงินจะปรับสูงขึ้นทั่วโลก

วันที่ 26 ม.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พร้อมขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.นี้ นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในรอบเกือบ 40 ปีและตลาดแรงงานที่กลับมาแข็งแกร่งหลังการระบาดของ Covid-19

แถลงการณ์ของ FOMC ระบุว่า “เนื่องจากเงินเฟ้อดีดตัวเหนือระดับ 2% และตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง คณะกรรมการจึงเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในไม่ช้า”

ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ในการประชุม FOMC ครั้งต่อไปในวันที่ 15-16  มี.ค.ศกนี้

พาวเวลล์เปิดเผยว่า“คณะกรรมการมีแนวคิดที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน มี.ค. หากมีเงื่อนไขเหมาะสมที่จะทำเช่นนั้น”  และเมื่อถูกถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะขึ้น พาวเวลล์ตอบว่า “ขณะนี้เรายังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับเส้นทางของนโยบาย และผมขอย้ำอีกครั้งว่าเราจะทำอย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว”

“มีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อที่เรากำลังเผชิญอยู่จะยืดเยื้อ มีความเสี่ยงว่ามันจะเพิ่มสูงขึ้น เราต้องมีนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ทั้งหมด”

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน มี.ค. พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในปี2565 นี้

ด้านโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ค.หรือเร็วกว่านั้น

เจ้าหน้าที่ Fed เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่คงอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังที่ผ่านมายืนยันว่าราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงแค่เรื่องชั่วคราว โดยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 7% จากปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ Fed ต้องกลับมาทบทวนการใช้นโยบายเงินผ่อนคลายครั้งประวัติศาสตร์

ประเด็นนี้ IMF ส่งเสียงเตือนว่าจะส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียอย่างแน่นอน

ชางยอง รี (Changyong Rhee) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิกขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มชัดเจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้ (27 ม.ค) ทั้งเฟดยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจในเอเชียฟื้นตัวช้าลง ทั้งสร้างแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายเงินทุนของแต่ละชาติในการพยายามป้องกันควมเสี่ยงเงินทุนไหลออก (Capital flight)

“เราไม่ได้คาดว่า การที่เฟดปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติจะส่งผลกระทบร้ายแรงแรงหรือมีผลครั้งใหญ่ต่อการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเอเชีย แต่เราคาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากการผลกระทบการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดอาจจะกระทบให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นและตามด้วยการยกระดับมาตรการทางการเงินทั่วโลก”

ไอเอ็มเอฟ ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ประจำปีนี้ โดยลดการคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในปี 2022 ว่ามีแนวโน้มชะลอตัวตัวลงสู่ระดับ 5.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.3%