ใครได้ใครเสีย?? นำเข้าหมูแก้ปัญหาแพงระวังพังทั้งระบบ จุดตายคนเลี้ยง จุดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย

735

ปัญหาหมูแพงกลายเป็นก้างชิ้นโตตำคอรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งคุมกระทรวงพาณิชย์โดยตรง มีหน่วยงานใต้สังกัดที่ดูแลได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งมีบางคนบางกลุ่มเสนอให้นำเข้าหมู เพื่อเพิ่มปริมาณหมูในประเทศให้มากขึ้นแนวทางนี้จะแก้ปัญหา หรือจะขุดหลุมฝังคนเลี้ยงหมูในประเทศกันแน่

วันที่ 19 ม.ค.2565 คนเลี้ยงหมูเตือนรัฐฯ “การแก้ปัญหาราคาหมู ภาครัฐควรต้องพิจารณามาตรการต่างๆอย่างรอบคอบไม่ใช่แก้จุดหนึ่งแต่ทำให้เกิดปัญหาในอีกจุด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาง่ายเข้าว่า ด้วยการนำเข้าหมูที่จะนำมาซึ่งปัญหาระยะยาวให้ประเทศไม่รู้จบ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด ตามมาด้วยห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ สุดท้ายจะเป็นบูมเมอแรงไปถึงผู้บริโภค และทำลายจุดแข็งของประเทศที่วาดฝันเป็นครัวของโลก”

ปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เตือนรัฐบาลหากภาครัฐจะแก้ปัญหาขายผ้าเอาหน้ารอด  ด้วยการนำเข้าหมูมาเพิ่มปริมาณหมูในประเทศ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศมากมาย 

ประการแรกที่สะท้อนแจ่มชัดที่สุดไม่ต่างจากการกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะสวนทางกับมาตรการของรัฐที่ต่อสู้กับหมูนำเข้ามาตลอด เพื่อปกป้องคนไทยจากสารเร่งเนื้อแดงที่หลายประเทศใช้ได้อย่างเสรี ซ้ำร้ายที่ผ่านมารัฐยังมุ่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมู

หากเปิดให้นำเข้า การสร้าง แรงจูงใจที่ทุ่มงบไปก็สูญเปล่า เพราะเกษตรกรทุกคนทราบดี ไม่มีทางที่ต้นทุนการผลิตหมูของไทยจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศในแถบตะวันตก ที่มีต้นทุนแค่เพียง กก.ละ 35-40 บาท ในขณะที่ไทยต้นทุนตก กก.ละ 100-120 บาท

“ต้นทุนการผลิตหมูของเขาต่ำกว่าเรามาก เพราะเขาเลี้ยงหมูแบบอุตสาหกรรมมาตรฐานเป็นฟาร์มใหญ่ประสิทธิภาพสูงไม่ใช่ฟาร์มหมูขนาดเล็กที่มีมากมายแบบบ้านเรา ขณะเดียวกันประเทศตะวันตกยังมีพื้นที่ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ขนาดใหญ่เป็นเมกะฟาร์ม มีเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว การลดความชื้น ขั้นตอนทุกอย่างดีกว่าไทยทุกด้าน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จึงถูกมาก ยังไม่นับรวมมาตรการมากมายที่ออกมาอุดหนุนเกษตรกร เพราะรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้วมองว่าเกษตรกรเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศที่ต้องรักษาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเขาจึงดีกว่าของเรามาก ต่างจากบ้านเรา เกษตรกรมักถูกมองว่าเป็นภาระของประเทศ รอคอยแต่ความช่วยเหลือ”

ประการที่สอง การปฏิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ยามเมื่อเขาขาดทุนสะสม 3 ปี ไม่เคยมีการเหลียวแลช่วยเหลือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้ามีราคาสูงจากการขนส่งแล้ว รัฐยังเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหมูสูงขึ้นไปอีก และที่ผ่านมารัฐพิจารณาปัญหาปากท้องของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ละเลยปากท้องของ เกษตรกรมาตลอด เมื่อใดที่ราคาหมูแพงเกษตรกร ต้องถูกกดราคาขายให้อยู่ในราคาควบคุมเสมอ

ประการที่สาม เนื้อหมูนำเข้ามีความเสี่ยง ที่จะนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาด้วย เนื่องจากแต่ละประเทศต่างมีโรคประจำถิ่นของตนเอง การปล่อยให้ชิ้นส่วนหมูเข้ามาจึงมีความเสี่ยงก่ออันตรายต่อหมูไทยและยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ให้รุนแรงขึ้น ขณะที่หมูนำเข้าต้องเข้ามาในรูปแบบเนื้อหมูแช่แข็งที่เชื้อไวรัสหลายตัวมีความทนทานมากอยู่ได้นานนับปีที่อุณหภูมิแช่แข็ง หากหลุดเข้ามา ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมของไทยย่อมส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหาร

ประการที่สี่ เมื่อไม่มีเกษตรกรกล้าเลี้ยงหมูอีกย่อมเท่ากับทำลายผู้ผลิตอาหาร ทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ทำให้คนไทยต้องพึ่งพาหมูต่างชาติตลอดเวลา ไม่สามารถเลี้ยงหมูกินเองได้เหมือนในอดีต เมื่อนั้นหายนะจะส่งตรงถึงทุกครัวเรือน ผลกระทบจะเกิดเป็นโดมิโนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ร่วม 7 ล้าน ครัวเรือน ภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ที่ต้องล่มสลายไปพร้อมกัน ถือเป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศเต็มรูปแบบ

เรื่องนี้นักวิชาการปศุสัตว์อิสระกัญจาฤก แว่นแก้วไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  ได้เขียนบทความเรื่อง เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู จุดตายคนเลี้ยง จุดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย ยกกรณีในอดีตไทยเคยเปิดนำเข้าเนื้อหมู 2 ตู้คอนเทนเนอร์ จากสหรัฐฯ กระทบราคาในประเทศร่วง คนเลี้ยงเจ๊งทันที

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า แนวทางการแก้ไขด้วยการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนั้น ต้องคิดให้รอบคอบรอบด้าน ตัวอย่างเรื่องนี้มีให้เห็นแล้ว ในสมัยที่ อมเรศ ศิลาอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา ขนาดว่ามาแค่ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ยังกระทบด้านจิตวิทยาอย่างหนัก ทำให้ราคาหมูในประเทศร่วงลงทันที จนต้องระงับการนำเข้าในที่สุด และถือเป็นบทเรียนสำคัญต่อเกษตรมาจนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญ หมูนอกจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคนไทยที่ต้องเสี่ยงกับ “ความไม่ปลอดภัยในอาหาร” จากสารปนเปื้อนอันตรายต่อสุขภาพที่มากับชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมูที่อาจติดมาด้วย และยังทำให้วงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรมต้องเสี่ยงกับความ “ล่มสลาย” เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยได้ หากเกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงหมู และหันไปพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น ย่อมทำลาย “ความมั่นคงทางอาหารของไทย” อย่างแน่นอน