การโต้อภิปรายระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ที่นครไมอามี รัฐฟลอริดา ต้องยกเลิกเพราะทรัมป์ปฏิเสธเข้าร่วมดีเบตทางออนไลน์และไปโต้กันนัดสุดท้าย 22 ต.ค.แทน ทรัมป์ประกาศพร้อมเดินสายหาเสียง ทั้งที่แพทย์ใหญ่เตือนว่าจะเป็นตัวแพร่เชื้อ ขณะโพลชี้คนอเมริกันส่วนใหญ่โทษรัฐบาลทำให้โควิด-19 ระบาดหนักและมองว่าสหรัฐควรมีบทบาทหลักนำโลกไม่ใช่ WHOอีกทั้งส่วนใหญ่เห็นว่า มีวัคซีนแล้วควรเก็บไว้ใช้เอง สะท้อนจุดยืนคนอเมริกันที่ไม่ต่างจากผู้นำประเทศนัก
แพทย์เตือนอาจเป็นสปรีดเดอร์-หาฟังไม่?
บันทึกของแพทย์ประจำทำเนียบขาว ฌอน คอนลีย์ เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้เข้ารับการรักษาโควิด-19 โดยสมบูรณ์แล้ว และสภาพร่างกายยังทรงตัวดี หลังจากกลับมาพำนักที่ทำเนียบขาวตั้งแต่วันจันทร์ และบอกว่าผู้นำสหรัฐฯ สามารถกลับไปพบปะผู้คนได้ตามปกติตั้งแต่วันเสาร์เป็นต้นไป
ขณะที่ นพ.แอนโธนี เฟาชี ผอ.สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกมาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 10 วันแรกที่เริ่มแสดงอาการ ยังคงถือว่าอยู่ในระยะที่ “แพร่เชื้อได้” จนกว่าจะมีผลตรวจโควิด-19 ในระยะ 24 ชั่วโมง ที่ให้ผลเป็นลบต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา ทางทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะเปิดเผยผลการตรวจโควิด-19 ของผู้นำสหรัฐฯ นับตั้งแต่พบว่าติดเชื้อ
ล่มเวทีดีเบต 2-ภาพพจน์ตกต่ำหรือยังไม่หายดี?
คณะกรรมการจัดการอภิปราย ของผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์(9 ต.ค.) ระบุว่า การโต้อภิปรายระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะไม่เกิดขึ้นตามแผนกำหนดการเดิม เนื่องจากฝั่งประธานาธิบดีทรัมป์ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการโต้อภิปรายในรูปแบบออนไลน์ คณะกรรมการฯ จะหันไปให้ความสำคัญกับการเตรียมการโต้อภิปรายนัดสุดท้ายของผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี แทน
จุดต่างความคิดของคนอเมริกันเกี่ยวกับการระบาดและวัคซีน
10 ต.ค. 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงานผลสำรวจจากสำนักวิชานโยบายสาธารณะแฮร์ริส มหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐฯ พบว่าร้อยละ 78 ของชาวอเมริกันเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศ รวมถึงอีกร้อยละ 56 ที่คิดว่านโยบายเหล่านั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ชาวอเมริกันยังมีแนวโน้มมองว่าสหรัฐฯ ควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 มากกว่าที่จะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และจีน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 78 ร้อยละ 57 ร้อยละ 55 และร้อยละ 51 ตามลำดับ ชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 57 เท่านั้นที่ประสงค์จะรับวัคซีนเมื่อพร้อมใช้งานแล้ว และตัวเลขดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 46 หากวัคซีนไม่ได้ถูกพัฒนาในสหรัฐฯ
-ผลสำรวจสะท้อนจุดแตกต่างทางความคิดเห็นเกี่ยวกับการควานหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบสถานการณ์โรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ รวมถึงการพัฒนาและการจัดจำหน่ายวัคซีน
ประชาชนฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกันกล่าวโทษองค์การอนามัยโลกร้อยละ 55 ซึ่งฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพรรคใด ร้อยละ 28 และฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครตร้อยละ 27
ประชาชนฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกันต้องการให้องค์การอนามัยโลกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีน ร้อยละ 39 ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพรรคใดร้อยละ 59 และของฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครตร้อยละ 75
-ผลสำรวจพบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 58 รวมถึงฝ่ายสนับสนุนรีพับลิกันร้อยละ 79 ระบุว่าสหรัฐฯ ควรเก็บวัคซีนไว้แต่เพียงผู้เดียว แม้ประเทศอื่นจะได้รับวัคซีนน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 39 ระบุว่าวัคซีนควรพร้อมใช้งานในประเทศอื่นโดยทันที ขณะเดียวกันประชาชนฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มจะรับวัคซีนน้อยกว่าฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครต ไม่ว่าวัคซีนนั้นจะถูกพัฒนาขึ้นในสหรัฐฯ หรือไม่ โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ร้อยละ 42 และร้อยละ 70 ตามลำดับ
ผลสำรวจทั่วประเทศชิ้นนี้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,053 คน ร่วมจัดทำโดยสำนักวิชาฯ และศูนย์วิจัยกิจการสาธารณะ เอพี-เอ็นโออาร์ซี (AP-NORC) ระหว่างวันที่ 11-14 ก.ย. 2020 และถูกเผยแพร่ก่อนมีการประชุมเพียร์สัน โกลบอล ฟอรัม 2020 ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6-8 ต.ค. ซึ่งมีนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายเข้าร่วมหารือการพัฒนากลยุทธ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ