รัฐบาลไบเดนเหวอ!?มะกันลาออกจากงานกว่า 20 ล้านคน มากสุดในรอบ 20 ปี ไม่แก้ไขมัวปั่นสงครามนอกบ้าน

1310

แอนโทนี่ คลอตซ์(Anthony Klotz) นักจิตวิทยาองค์กรและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M ได้เผยแพร่ คำจำกัดความปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐว่า The Great Resignation หรือ คลื่นการลาออกครั้งใหญ่ในระหว่างการสัมภาษณ์กับสำนักขาวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เพื่ออธิบายถึงคลื่นของผู้คนที่ลาออกจากงานเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ จนถึงปัจจุบัน แต่เขาไม่เคยคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานยังดำรงอยู่ ทำให้ผู้นำธุรกิจต้องตะลึงเมื่อการลาออกทำสถิติสูงสุดใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีคนงาน 4.5 ล้านคนลาออกจากงาน คิดเป็น 20 ล้านคนในรอบครึ่งปี ตามรายงานการเปิดรับตำแหน่งงานและการหมุนเวียนแรงงานล่าสุดของกระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ นับเป็นวิกฤตขาดแคลนแรงงานหนักสุดในรอบ 20 ปี

วันที่ 14 ม.ค.2565 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีcและบีบีซีเปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รายงานสถิติตำแหน่งงานของรัฐบาลที่เผยแพร่สู่สาธารณชน  ส่งสัญญาณอันตรายภาคแรงงานของสหรัฐฯ ผู้คนกว่า 20 ล้านคนลาออกจากงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 บางคนเรียกมันว่า “การลาออกครั้งใหญ่หรือ The Great Resignation” 

ถนนทุกย่านในสหรัฐติดป้ายหน้าร้านค้า ร้านอาหาร และโรงงาน ทั้งหมดระบุเปิดรับสมัครงานชัดเจน เช่น “เรากำลังจ้างคนงาน!” “ต้องการความช่วยเหลือ!” แต่ตอนนี้ ตัวแปรการระบาดโอมิครอน กำลังส่งผลกระทบต่อปัญหาพนักงานที่ขาดแคลนอยู่แล้วให้สาหัสยิ่งขึ้น  แม้นายจ้างพากันเสนอค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และแม้กระทั่งการให้โบนัสที่ดีกว่าก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ

ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น? 

แอนโทนี คลอตซ์ นักจิตวิทยาองค์กรฯ กล่าวว่า เสรีภาพการความยืดหยุ่นในการทำงานกลายเป็นผลประโยชน์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของคนทำงาน ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  มากจนพวกเขาให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงานมากเท่ากับการขึ้นเงินเดือน 10%เลย เขามองว่าบริษัทจำนวนมากจะยอมรับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถไว้ 

ด้าน LinkedIn เว็บไซต์งานออนไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเครือข่ายมืออาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยมุมมองโดย คาริน คิมโบรก(Karin Kimbrough) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LinkedIn เคยทำงานให้กับเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) เธอมีมุมมองเกี่ยวกับตลาดแรงงานของสหรัฐฯว่า

คนยุคเบบี้บูมเมอร์หลายล้านคนต้องการเกษียณอายุก่อนกำหนด และรวมถึงพนักงานวัยเจนฯซี (Gen Z) อีกหลายล้านคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและอายุ 20 ต้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถือเป็น”อัตราการลาออก” สูงสุดในรอบสองทศวรรษก็ว่าได้

ผลสำรวจของ ResumeBuilder.com ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สัมภาษณ์คนงานชาวอเมริกัน 1,250 คน พบว่าชาวอเมริกันลาออกจากงานในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และมีแผนจะลาออกอีกจำนวนมากในปีใหม่ พนักงานประมาณ 23% คิดจะหางานใหม่ในปี 2565 ในขณะที่ 9% ได้ลาออกและได้ตำแหน่งงานใหม่แล้ว 

ปัญหาการคลื่นการลาออกของคนอเมริกัน คลอตซ์มองว่าจะคลี่คลายลงในที่สุดและคาดการณ์ว่าบริษัทต่างๆ จะลงทุนด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน แม้หลังจากการระบาดใหญ่จะบรรเทาลง 

ผลประโยชน์เดียวกันนี้สามารถผลักดันบริษัทต่างๆ ให้จ้างผู้สมัครจากต่างประเทศมากขึ้นสำหรับการทำงานทางไกล เขากล่าวเสริมว่า “ในสหรัฐอเมริกา พนักงานมักจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าคนในประเทศอื่นๆ คุณสามารถรับสมัครพนักงานจากทั่วทุกมุมโลกที่สามารถทำงานเดียวกันได้ในราคาที่ถูกกว่า” 

ทางด้านรัฐบาลมองปัญหานี้ว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นภาพสะท้อนด้านบวกของภาคแรงงานสหรัฐมากกว่า

ภารัต รามมูรติ รองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้ความเห็นเชิงบวกต่อข้อมูลการลาออกล่าสุดเขามองว่า เป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น

ส่วนปธน.ไบเดนกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ มองว่า รายงานการจ้างงานเป็นสัญญาณว่าแผนเศรษฐกิจของเขากำลังทำงานได้ผล เขากล่าวว่า“มีข่าวมากมายเกี่ยวกับผู้คนที่ลาออกจากงาน” “รายงานของวันนี้บอกคุณว่าเกิดอะไรขึ้น คนอเมริกันกำลังก้าวไปสู่งานที่ดีกว่า เงินเดือนที่ดีกว่า และสวัสดิการที่ดีกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาลาออกจากงาน”