‘คลัง’ลุยเก็บภาษีคริปโตฯ-หุ้น! ยันเพื่อความเป็นธรรม ย้ำขยายฐานภาษีเพื่อเป็นรายได้เข้าปท.

923

ขุนคลังยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีซื้อขายหุ้นและคริปโตเคอเรนซี เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ระบบภาษี และขยายฐานภาษีนำเงินเข้าประเทศ ทั้งเปิดเผยว่ายังไม่สรุปรูปแบบจัดเก็บ  เรื่องนี้ทาง”สรรพากร” ร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายวางแนวปฏิบัติจัดเก็บที่เหมาะสม และได้เปิดช่องรับฟังความเห็น ขณะที่มีเสียงค้านจากนักการเมืองและภาคเอกชน ซึ่งทางรัฐฯเห็นว่าก็ต้องมองสองด้าน ธุรกิจหลายประเภทยกเว้นภาษีมาระยะหนึ่งแล้วสมควรต้องเสียภาษี กรณีนี้ประเทศต่างๆก็ดำเนินการเช่นกัน

ที่ผ่านมาการเก็บภาษีคริปโต ในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และเมื่อปี 2564 ก็มีคนที่ยื่นเสียภาษีตัวนี้ แต่ในปี 2565 นี้จะกำหนดในรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้การยื่นแบบง่ายขึ้น

วันที่ 13 ม.ค.2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม โดยคนที่ใช้ทรัพยากร หรือคนที่มีรายได้ ก็ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ แต่ที่มีการออกข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีบางเรื่อง ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้นๆเป็นการชั่วคราว เช่น กรณีการซื้อขายหุ้นที่ได้รับการยกเว้นมา 30 ปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรายได้ของนายหน้าซื้อขาย (โบรกเกอร์)  ก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้วด้วย ซึ่งยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีจากการขายคริปโต และภาษีจากการขายหุ้นเป็นไปเพื่อขยายฐานภาษี และนำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ

รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าในอดีต แต่รายได้จากภาษี ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพี ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีข้อยกเว้นทางภาษีเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนในบางภาคส่วน แต่เมื่อการสนับสนุนมาระยะหนึ่งและถึงเวลาที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง  การยกเว้นก็ควรลดลง

สำหรับการเก็บภาษีคริปโตนั้น  ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโต แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็เช่นกัน มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย เพียงแต่ยกเว้นให้เท่านั้น ในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ในต่างประเทศมีการเก็บจากกำไรจากการลงทุน (Capital gain) หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่นเดียวกับภาษีคริปโต ที่มีการเก็บภาษีจาก capital gain หรือจากรายการธุรกรรม (Transaction)  ซึ่งเรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งสองตัวนี้ว่าจะเลือกแนวทางใด

ด้านข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้นำผลขาดทุนมาหักออกจากผลกำไร ( off set) ได้ด้วยนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องแนวทางการจัดเก็บ  ซึ่งแนวทางการนำขาดทุนมาหักกลบก็อยู่ในหนึ่งของแนวทางที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วย ส่วนที่มีข่าวว่า อาจจะมีการยกเว้นภาษีคริปโต กรณีรายได้ต่อปีไม่ถึง 2 แสนบาท นายอาคมได้ปฏิเสธที่จะตอบในเรื่องนี้ เพียงแต่ระบุว่า เป็นเรื่องที่กรมสรรพากร กำลังพิจารณาในรายละเอียด

ส่วนภาษีจากการขายหุ้น ก็มีแนวทางว่าจะเก็บจากการขายต่อครั้ง หรือจะเก็บจาก Capital gain  ซึ่งถ้าจัดเก็บจาก Capital gain จะกระทบนักลงทุนรายใหญ่เพราะมีการซื้อขายสูง ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางใด  แต่ประเทศส่วนใหญ่ เลือกเก็บวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่การจัดเก็บจาก capital gain จะมีความยุ่งยากในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล  ที่ต้องมีความรวดเร็ว เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เก็บจาก capital gain ซึ่งระบบสามารถ เรียกใช้ข้อมูลการซื้อขายแบบทุกนาทีได้

ในที่สุดข้อสรุปหลักเกณฑ์เก็บภาษีคริปโตจะเป็นอย่างไรนั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาทุกประเด็น ทั้งในเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้กำไรจากคริปโทเคอร์เรนซี และการนำส่วนที่ขาดทุนจากคริปโทเคอร์เรนซีมาคำนวณหักลบกลบกันได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการคำนวณภาษีรูปแบบนี้ ซึ่งจะต้องทำให้ทันภายในการสิ้นสุดยื่นแบบแสดงเงินได้ถึง 8 เม.ย.2565 ขณะที่จะปรับรูปแบบการเก็บภาษีเงินได้คริปโทเคอร์เรนซีเป็น capital gain ไปเลยโดยไม่ต้องคำนวณเป็น transaction เนื่องจากมีจำนวนเยอะมากนั้น ในส่วนนี้ก็กำลังพิจารณาว่าแบบไหนจึงเหมาะสม

ขณะที่การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จะออกกฎหมายให้ exchange  เป็นผู้หักภาษีเพื่อให้สะดวกขึ้นหรือไม่นั้น จะต้องมีการตกลงกันก่อน ซึ่งขณะนี้ผู้ซื้อมีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวการคลัง กล่าวเสริมว่า เงินคริปโทฯ ไม่เหมือนกับเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือ เงินบาท ที่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานเข้าไปคอยกำกับดูแล เข้าไปค้ำประกันไม่ให้ล้ม หรือเกิดความเสียหาย แต่คริปโตเป็นเงินขององค์กร ซึ่งการที่กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บภาษีตามกฎหมาย เหมือนการเข้าไปดูการซื้อขาย หรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษี ก็ไม่ใช่กฎเกณฑที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับภาษีหุ้นที่รัฐบาลได้ยกเว้นมาหลาย 10 ปี ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดเก็บ