นักเศรษฐศาสตร์จากเคียฟฟันธง!!การทูตแบบใหม่รัสเซียทำสหรัฐ-NATO ปรี๊ด ส่อแววเผชิญหน้า

1159

ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์ชายแดนยูเครน-รัสเซีย มีการตั้งกองทหารประชิดชายแดนทั้งสองประเทศ สภาพเปราะบางที่การปะทะทางทหารอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทั่วโลกต่างจับตาการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและนาโตว่าจะออกผลมาอย่างไร ซึ่งจะทำกัน 3 ยก แต่สองยกแรกก็พบว่าล้มเหลว ไม่มีอะไรดีขึ้น ส่อแววว่าการเผชิญหน้าอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ความร้อนระอุของสถานการณ์ที่เราได้เห็นอาจมาจากท่วงทำนองใหม่ทางการทูตของรัสเซียที่สหรัฐและพันธมิตรไม่เคยพบมาก่อนจึงไปไม่เป็น มาดูการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักเคียฟ (National Taras Shevshenko University of Kyiv) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาว่า ปรากฎการณ์นี้คือ “การทูตแบบใหม่…เมื่อรัสเซียยื่นคำขาดต่อสหรัฐฯ”

ดร.ชินสัคคฯกล่าวว่า เวลานี้คงไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จะมีความสำคัญเกี่ยวกับการยื่นคำขาดของปูตินต่อสหรัฐอเมริกา ให้รับรองความปลอดภัยของรัสเซียด้านเอกสารทางกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นการทูตแบบใหม่หลังโควิด-19 ที่มุ่งหวังผลลัพธ์ของการเจรจามากกว่ากระบวนการเจรจา และมุ่งโต้ตอบต่อสหรัฐด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองเต็มรูปแบบ มาดูกันว่าการทูตแบบใหม่ของปูตินเป็นอย่างไร ซึ่งวงการวิชาการยังก้าวไปไม่ถึงจุดนี้

1.ทำไมรัสเซียต้องยื่นคำขาดทางการทูตต่อสหรัฐ?

สถานการณ์ในเวลานี้ดูเหมือนว่ารัสเซียจะยื่นคำขาดต่อสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัสเซียกำลังพูดถึงร่างข้อตกลงการค้ำประกันความปลอดภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของมอสโก จากมุมมองนี้ คือไม่ใช่เป็นเรื่องของการเจรจากันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องผลลัพธ์ ทำให้รัสเซียยื่นเป็นคำขาด ความต้องการการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข ทางสหรัฐค่อนข้างจะทราบเรื่องนี้ว่าร่างเอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารสองฉบับที่เรียกร้องให้นาโต้คืนสู่ชายแดนปี 1997 จริงๆ กล่าวคือ ตามแนวทางที่ประธานาธิบดีสหรัฐ (บุช) เคยกล่าวแก่ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต (กอร์บาชอฟ) อย่างถูกกฎหมาย

รัสเซียต้องการให้มีสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นอยู่สำหรับปี 1997 อาจเป็นอัตราการต่อรองที่สูงมาก เนื่องจากปูตินกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าสหรัฐจะดำเนินการตามที่เคยสัญญา ซึ่งเป็นสไตล์ของแองโกลแซกซอน หากตนเองได้ประโยชน์ก็ไม่เคยยึดกฎหมาย ยกตัวอย่างเมื่อสหรัฐฯ สัญญาว่าจะไม่ขยายนาโต้ไปทางตะวันออก แต่ปัจจุบันอยู่ที่รั้วบ้าน และตอนนี้เห็นหน้ากันอย่างเปิดเผย และปูตินเหนื่อย! ที่จะฟังคำโกหกหลอกลวงหรือให้ปฎิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตอนนี้ปูตินได้โต้กลับทางการทูต หลังจากนั้นจะสร้างความน่าอึดอัดใจได้ กำหนดจุดยืนไว้อย่างชัดเจนและเรียกร้องการค้ำประกันทางกฎหมาย

2.รัสเซียทำเช่นนี้เป็นการข่มขู่จะทำสงครามหากสหรัฐไม่ตกลงจริงหรือ?

ไม่น่าจะเป็นการข่มขู่ รัสเซียต้องการเวลาเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และในช่วงเวลานี้ตะวันตกจะสูญเสียความสำคัญในอดีตของตนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทั่วโลก และ “ศูนย์กลางของสันติภาพ” กำลังเคลื่อนไปสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และด้วยการได้รับการรับรองเสถียรภาพและการไม่แพร่ขยายความไร้เสถียรภาพไปยังพรมแดนของรัสเซีย ก็จะสามารถโยนกองกำลัง (การเงิน มนุษย์ การเมือง) ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐชั้นนำแห่งหนึ่งในระเบียบโลกใหม่ ตอนนี้รัสเซียได้ประโยชน์อย่างมากในช่วงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ปูตินชี้ชัดว่าหมดเวลาคุยแล้ว ความตึงเครียดทั้งหมดในยุโรปเป็นผลงานของสหรัฐ และสหรัฐขายโรคความกลัวรัสเซียแก่สหภาพยุโรปให้เต้นรำตามทำนองของชาวอเมริกัน และปฏิบัติตามคำสั่งทั้งหมด คว่ำบาตรและโจมตีรัสเซียอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถเจรจาทางการทูตได้ รัสเซียมีทางเดียวเท่านั้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ เพื่อใช้ประโยชน์จากอำนาจทางทหารของตนเหนือตะวันตก เพื่อประกันความมั่นคงของประเทศ และตอนนี้รัสเซียมีโอกาสดังกล่าวแล้ว

3.โอกาสอะไร?

ต้องขอบคุณการพัฒนาจากความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และผู้ทดสอบชาวรัสเซีย ได้แสดงให้เห็นในทิศทางที่สดใสที่สุด ทำให้รัสเซียนำหน้าศัตรูไปหลายปี อย่างขีปนาวุธข้ามทวีปอะวานกราดมีความเร็วเหนือเสียง 20 มัค (25,000 – 30,000 กม./ชม.) และหากวุฒิสมาชิก ส.ส. หรือนักข่าวในสหรัฐไม่ทราบเรื่องนี้ ก็ไม่เข้าใจระดับอันตรายที่แท้จริงของอาวุธใหม่ของรัสเซีย ขีปนาวุธข้ามทวีป กองทัพรัสเซียเป็นผู้นำของโลกในด้านยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย หากสหรัฐไม่ทำตามยุโรปตะวันตกก็จะมีความเสี่ยง แค่รับมือกับเบลารุสเรื่องผู้อพยพจากตะวันออกกลาง เยอรมันก็ประสบความยากลำบากอย่างมากเมื่อต้องเผชิญหน้ากับลูคาเชนโก้ หากสหรัฐฯปฎิเสธ รัสเซียจะเริ่มใช้การทหารนำการเมืองในการตอบโต้พร้อมทั้งการจำกัดการส่งออกแหล่งพลังงานซึ่งสนับสนุนเศรษฐกิจของตะวันตกด้วย

รัสเซียเริ่มขายแก๊สธรรมชาติให้จีนมากขึ้นแทนที่ตลาดแก๊ส LNG ของสหรัฐฯที่จำหน่ายแก่จีนที่มีราคาแพง ดังนั้น รัสเซียและจีนบีบให้สหรัฐฯออกจากตลาดเอเชียและสร้างให้เกิดการขาดดุลตลาดแก๊สในยุโรป ยุโรปและสหรัฐฯ จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเริ่มนำเข้าแก๊ส LNG จากสหรัฐฯไปยังยุโรป ซึ่งมีราคาที่แพงมากหากราคาน้ำมันในยุโรปสูงขึ้น ในขณะที่ราคาในจีนกลับถูกลง จะทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลง และสินค้าของยุโรปมีราคาแพงขึ้นอีก (หากเปรียบเทียบรายได้ของกาซพรอมในช่วงเวลาเดียวกันของราคาแก๊สกาซพรอมได้กำไรมากกว่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้สร้างความรื่นเริงให้กับการลงทุนด้านการก่อสร้างเส้นทางการขนส่งใหม่ที่มีอัตราที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19) สินค้าจีนชนะการแข่งขันจากผู้ผลิตตะวันตก ทุกอย่างจะเลวร้ายลงมากสำหรับยุโรป ช่วยลดโอกาสที่ยูเครนจะเข้าร่วมนาโต้ได้อย่างมาก และจะส่งผลทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในเยอรมนีปิดกิจการที่อาจทำให้เกิดการว่างงานมากกว่าเจ็ดแสนคน และสหรัฐฯจะมีปัญหาการขาดแคลนสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาโลจิสติกส์การขนส่งระหว่างประเทศ นี้คือสิ่งที่ตามมาที่จะสร้างผลเสียหายต่อสหรัฐและยุโรป

4.การทูตแบบใหม่แสดงผลประโยชน์รัสเซียด้านไหนที่มีความสำคัญที่สุด?

คิดว่าเป็นเรื่องอธิปไตยในความหมายใหม่ คือการดำรงอยู่ของรัฐศูนย์กลางอย่างรัสเซียในฐานะเจ้าภาพและมีตัวตนอย่างชัดเจน กินความหมายไปที่โซนอิทธิพลที่สหรัฐไม่สามารถสั่งการได้ แต่ขึ้นกับอำนาจการต่อรองทางการทหาร (อาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง) และภูมิเศรษฐกิจที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายกำลังพลระหว่างประเทศ แต่สร้างความสูญเสียอย่างมากทั้งเศรษฐกิจและประชาชน เป็นเรื่องใหม่ขององค์ความรู้ที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 จนกระทั้งกลายเป็นเทคโนโลยีการทหารชี้นำภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐกิจตามมาในปัจจุบัน และกลายเป็นหลักพื้นฐานการป้องกันความปลอดภัยของประเทศแบบใหม่ โดยผสมผสานกับคณิตศาสตร์เบื้องต้นด้านภูมิเศรษฐกิจ

กล่าวคือ หลังการระบาดโควิด-19 สหรัฐฯได้พิมพ์เงินออกมาใช้จ่ายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก แต่รัสเซียและจีนไม่ต้องการที่จะยอมรับเงื่อนไขการใช้จ่ายดังกล่าว ในขณะที่จีนในปี 2030 จะมีประชากรวัยเกษียณมากกว่า 300 ล้านคน กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้คิดเป็น 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นี้คือเค็กก้อนใหญ่ของจริงที่สหรัฐฯต้องการส่วนแบ่ง แต่ไม่มีความสามารถด้านภูมิเศรษฐกิจและการทหาร ดังนั้นจึงต้องใช้การขยายตัวของนาโตเพื่อต่อรองและทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยการยั่วยุสงครามผ่านชายแดนยูเครน