จตุพรชำแหละเป้าหมายม็อบคือสถาบัน! เตือนราชดำเนินปกติเป็นเส้นทางเสด็จฯ

3973

จากที่วันนี้(9 ต.ค.63) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk โดยประเมินข้อเรียกร้องใหม่ของคณะราษฎร 2563 โดยบางช่วงมีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้นายจตุพร กล่าวว่า คณะราษฎร 2563 จะจัดชุมนุม 14 ตุลาได้แถลงเป้าหมาย 3 ข้อ ซึ่งรวมเอาข้อเรียกร้องของกลุ่มปลดแอกกับกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าด้วยกัน แล้วเป็นข้อเรียกร้องใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดประชุมสภาวิสามัญแก้ รธน. และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

“จากข้อเรียกร้องเดิมให้ยุบสภา แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น มีนัยแตกต่างกัน เพราะการยุบสภาคือคืนอำนาจให้ประชาชน แต่การให้นายกรัฐมนตรีลาออกเท่ากับสภายังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ในช่วงเลือกตั้งทั่วไป

ดังนั้น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จึงเป็นการปิดประตูพรรคพลังประชารัฐ เพราะได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในบัญชีแรก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อบัญชีแรก 3 คน คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย เสนอนายอนุทิน ชาญวีระกูล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว

รธน. 2560 ถ้าชื่อนายกรัฐมนตรีบัญชีแรกไม่สามารถโหวตเลือกได้คนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่อเลือกบุคคลภายนอก (นอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเสนอไว้) ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติตามรธน.”

นอกจากนี้ ประธานนปช. ยังกล่าวเน้นถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันว่า การชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาที่สนามหลวง เนื้อหาหลักในการอภิปรายบนเวทีเป็นการปฏิรูปสถาบันถึง 90% เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเพียง 10% จึงรู้ถึงเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่อยู่ที่สถาบัน รัฐบาลจึงลอยตัวสบายไป

ปัญหาวันนี้ แม้ข้อเรียกร้องได้ปรับเปลี่ยนก็ตามแล้ว แต่ท่วงทำนองและบริบทการปฎิรูปสถาบันยังถูกใช้เป็นหลักอยู่ อีกทั้งการชุมนุม 14 ตุลานั้น ในวันนั้นจะมีพิธีที่วัดพระแก้วพระบรมมหาราชวัง ถนนราชดำเนินในช่วงปกติจะเป็นเส้นทางขบวนเสด็จ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมเมื่อพฤษภา 2535 ผู้ชุมนุมต้องเปิดสองข้างทางให้ขบวนเสด็จ แล้วเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

หลายเรื่องได้เลยเถิดมามาก แต่ถ้าเอาประเด็นเกี่ยวข้องกับสามัญชนด้วยกันแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเลยเถิดจึงเป็นการจำกัดแนวร่วม วันนี้เมื่อเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงอยู่เหนือการเมือง นั่นแปลความว่าพสกนิกรต้องเทิดไว้เหนือหัว จึงไม่ควรดึงลงมาอยู่ในสนามการเมือง ส่วนความเห็นต่างกันให้เป็นเรื่องสามัญชน

ข้อเรียกร้องที่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นมาใหม่เป็นเสรีภาพ ส่วนข้อที่สามจะกลายเป็นปัญหา จึงเตือนสติว่า สองข้อแรกชอบธรรม ในข้อที่สามนั้น ประกอบกับมีเส้นแบ่งบางๆตามเส้นทางขบวนเสด็จฯแล้ว ผมว่าต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ขออย่าทำให้ 14 ตุลา เป็น 6ตุลา” นายจตุพร กล่าว

ที่มา : เฟซบุ๊ก Peace News