Truthforyou

ภาษีอีเซอร์วิสปัง!!สรรพากรปลื้ม 2 เดือนเก็บได้ 1,400 ล้านบาท ทะลุเป้าหมายกว่าเท่าตัว

ภาษีอีเซอร์วิสมาแรงหนุนสรรพากรเก็บภาษีทะลุเป้า2 เดือนแรกปีงบประมาณ 65 เก็บภาษีทะลุเป้าหมาย ฟุ้งอานิสงส์รัฐคลายมาตรการล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุนภาคธุรกิจเดินหน้าทำธุรกิจได้ดีขึ้น โวภาษีอีเซอร์วิสมาแรง หลังผู้ประกอบการลุยยื่นแบบทะลัก 115 ราย รีดภาษีได้ 1.4 พันล้านบาท “คลัง” อวดจัดเก็บ 2 เดือน โกยรายได้เข้าหีบ 3.61 แสนล้านบาท

วันที่ 10 ม.ค. 2565 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 เกินเป้าหมายเกือบ 10% แม้ว่าผู้เสียภาษีจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ว่าการคลายล็อกมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา และเปิดประเทศ ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น

“สรรพากร” ลุยศึกษารีดภาษีขายหุ้น เรต 0.1% ชูล้านละพัน ถือว่าไม่มาก ระบุไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่เว้นให้มาแล้ว 30 ปี จ่อชงคลังพิจารณาเร็ว ๆ นี้ มั่นใจไม่กระทบตลาดหุ้นไทย หลังโควิดบุก 2 ปี ดัชนียังพุ่ง

6 ม.ค. 2565 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเร่งศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งกฎหมายของกรมสรรพากรมีอำนาจให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการยกเว้นการจัดเก็บมา 30 ปี ตอนนี้ต้องนำมาพิจารณาแนวทางการจัดเก็บให้มีความเหมาะสมที่สุด โดยทางธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เพื่อศึกษาแนวทางเพื่อให้มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ในโลกนี้การจัดเก็บภาษีหุ้นมี 2 รูปแบบ คือ 1. การเก็บจากส่วนต่างของกำไร (แคปปิตอล เกนท์) ก็มีข้อดี แต่การดำเนินการยุ่งยาก เป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากกว่า หากกรมสรรพากรดำเนินการรูปแบบนี้ก็ต้องไปออกระเบียบและแก้กฎหมายใหม่ และ 2. การเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จัดเก็บวิธีการนี้ ล่าสุดมาเลเซีย เริ่มต้นวันแรกของตลาดหุ้นปี 2565 ก็ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นเป็น 0.15% จาก 0.1% มีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีหุ้น แต่สิงคโปร์มีการเก็บภาษีอากรแสตมป์จากการซื้อขายหุ้น

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดยในต่างประเทศจัดเก็บทั้ง 2 ขา ทั้งขาขายและขาซื้อ แต่ในส่วนของไทยที่ศึกษากันจะเก็บจากการขายหุ้นฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งภาระไม่ได้เยอะ โดยมีอัตราจัดเก็บที่ 0.1% เท่ากับหากมีการขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีเพียง 1 พันบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้มาก

“จะมีการเสนอแนวทางการศึกษาทั้งหมดให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการจะเริ่มเก็บต้องดูสภาพตลาดหุ้นด้วย โดยต้องยอมรับว่าแม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดหุ้นไทยก็มีดัชนีเพิ่มขึ้น และมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นมองว่าหากมีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การเก็บภาษีหุ้นไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีด้วย เพราะเป็นการเสียในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน การซื้อขายอสังหาริมทรัยพ์ ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งหมดไม่ได้รับการยกเว้น ซึ่งภาษีหุ้นก็อยู่ในหมวดธุรกิจเฉพาะที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% แต่ทีผ่านมาได้รับการ

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิส ช่วยให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีแล้ว 115 ราย เก็บภาษีได้ 1.4 พันล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวว่า“กรมสรรพากรตั้งเป้าไว้ว่าในช่วงแรกจะมีผู้เสียภาษีอีเซอร์วิส เข้าสู่ระบบประมาณ 50 ราย แต่เพียง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 เข้ามาแล้ว 115 ราย เกินเป้าหมายไปกว่าเท่าตัว และเชื่อว่าจะมีผู้เข้ามาลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผู้ประกอบธุรกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยทั้งปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรจะพยายามจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับภาพรวมรายได้ของประเทศ” 

สำหรับธุรกิจอี-เซอร์วิส ที่ต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีภายใต้กฏหมายใหม่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

-ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์  อาทิ อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay) ส่วนมาร์เกตเพลส เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน แต่ไม่เข้าข่ายเพราะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และมีการชำระภาษีก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

-ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์   อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) กูเกิล (Google)  ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใดๆได้เลย

-ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พักและการเดินทาง อาทิบุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb)

-ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ได้แก่บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี เช่น แกร็บ (Grab) เป็นต้น

-ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกมส์ และคอนเสิร์ต อาทิ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สปอร์ติฟาย (Sportify) แอปเปิลเพลย์ (Apple Play), ซูม (Zoom) เป็นต้น

Exit mobile version