ควันจาง??คาซัคฯกวาดล้างไส้ศึก จับอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองข้อหากบฏสมคบต่างชาติ

1254

วิกฤตรุนแรงในคาซัคสถาน ส่งผลมีคนเสียชีวิตแล้ว 164 ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประท้วงและ ผู้เข้ายึดอาคารรัฐบาลที่ติดอาวุธ ด้านมะกันอยากรู้ทำไมต้องขอรัสเซียช่วยพร้อมแซะรัสเซีย เลยโดนตอกกลับหน้าหงาย ล่าสุด “คาริม มาสซิมอฟ” อดีต ปธ.คกก.ความมั่นคงฯ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของคาซัคสถาน ซึ่งเพิ่งออกจากตำแหน่งไม่กี่วัน ถูกทางการจับกุมตัวในข้อหากบฏ ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยังมีการเคลื่อนไหวประปราย

วันที่ 9 ม.ค.2565 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และสปุ๊ตนิก รายงานว่า นายคาริม มาสซิมอฟ อดีตประธานคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดูแลเรื่องการข่าวกรองของคาซัคสถาน ถูกจับกุมตัวในข้อหากบฏ หลังจากก้าวลงจากตำแหน่งได้ไม่กี่วัน ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในความรุนแรงจากก่อการร้ายขยายตัวในหลายเมืองเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่คาซัคสถานไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่าทำไมนายมาสซิมอฟจึงถูกจับกุม โดยนอกจากเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองแล้ว นายมาสซิมอฟยังเคยเป็นสมาชิกหน่วยเคจีบี และเป็นพันธมิตรคนสนิทของอดีตประธานาธิบดี นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ โดยเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาถึง 2 สมัย การจับกุมนายมาสซิมอฟจึงทำให้เกิดข่าวลือว่า มีทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคาซัคฯฝักใฝ่ตะวันตกและร่วมมือกับซีไอเอ

ในวันเสาร์ที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ในเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน และศูนย์กลางการประท้วงได้แล้ว แต่ปธน. คัสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟ กล่าวระหว่างคุยโทรศัพท์กับวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ว่า ยังมีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในบางจุด

ด้านนายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังขาที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปในคาซัคสถานในนามของ องค์กรสนธิแสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization : CSTO) เพื่อฟื้นฟูความสงบ “หนึ่งบทเรียนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ เมื่อรัสเซียเข้าไปในบ้านของคุณแล้ว บางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้พวกเขาออกไป”

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า คำพูดของนายบลิงเคนเป็นการก้าวร้าวกักขฬะ และตอบโต้ว่า “เมื่ออเมริกันเข้าไปในบ้านของคุณ เป็นเรื่องยากที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกปล้นหรือข่มขืน” เขากล่าวเสริมว่า “อินเดียนแดงของทวีปอเมริกาเหนือ, เกาหลี, เวียดนาม, อิรัก, ชาวปานามา, ยูโกสลาฟ, ชาวลิเบีย ซีเรียและหลาย ๆ ชาติที่โชคร้าย ต่างมีมากพอที่จะเป็นพยานเห็นพฤติกรรมแขกไม่ได้รับเชิญเหล่านั้นในบ้านของพวกเขา”

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่การทูตชาวอเมริกันประจำสถานเอกอัครราชทูต ในกรุงนูร์สุลต่าน และสถานกงสุลใหญ่ประจำเมืองอัลมาตี ซึ่งไม่มีกิจธุระเร่งด่วน สามารถเดินทางกลับได้ตามความสมัครใจ ส่วนผู้ที่สมัครใจอยู่ต่อ รวมถึงพลเมืองซึ่งกำลังท่องเที่ยวอยู่ในคาซัคสถาน ขอให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น ในเวลาเดียวกับที่โทคาเยฟยืนยัน “ไม่เจรจาอย่างเด็ดขาดกับฝ่ายต่อต้าน” โดยยืนกรานว่า บรรดาผู้ก่อความไม่สงบต้องวางอาวุธสถานเดียว 

 

รายงานของกระทรวงมหาดไทยคาซัคสถานระบุว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย และมีการจับกุมผู้ก่อความไม่สงบมากกว่า 3,000 คน โดยชนวนเหตุของการลุกฮือมาจากความไม่พอใจราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น แล้วบานปลายกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลของโทคาเยฟ ทายาทการเมืองของนายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ผู้นำคนแรกของคาซัคสถาน ซึ่งปกครองประเทศยาวนาน 3 ทศวรรษหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย จนกระทั่งสละอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562

เออร์ลัน คาริน(Erlan Karin) รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานกล่าวว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในคาซัคสถานเป็นการโจมตีโดย “ผู้ก่อการร้ายแบบสงครามพันทาง(ไฮบริด)” ที่ดำเนินการโดยมีส่วนร่วมของกองกำลังภายในและภายนอกและมุ่งเป้าไปที่การล้มล้างรัฐบาล

คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติของประเทศออกแถลงการณ์แจ้งว่า กลุ่มหัวรุนแรง 2 แห่ง ซึ่งส่งสมาชิกเข้าร่วมในการจลาจลในคาซัคสถาน ถูกสลายจับกุมในเมืองอัลมาตี ตามการเปิดเผยข้อมูล สมาชิกสี่คนของกลุ่มหัวรุนแรงเดียวกันถูกจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ และได้ยึดอาวุธปืน-ระเบิดทำลายล้าง รวมทั้งหลักฐานทางวัตถุอื่นๆอีกจำนวนมาก

แถลงการคณะกรรมการระบุว่า“หัวหน้ากลุ่มอื่นซึ่งเป็นชาวต่างชาติมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจลาจลซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายในต่างประเทศ จากการสอบสวน พวกเขาตั้งใจมาถึงคาซัคสถานเพื่อเตรียมการ กระทำที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก และดำเนินการเข้าโจมตีหน่วยงานของรัฐและกองกำลังรักษาความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลฯ ทั้งนี้ทางการได้ดำเนินการค้นหาผู้สมรู้ร่วมคิดที่ได้รับการจัดตั้งอย่างจริงจัง”