ตัดไฟแต่ต้นลม!! เปิดเบื้องหลังคาซัคฯถูกปั่นจลาจลสู่ก่อการร้าย เหตุรัสเซียส่งกำลังหนุนก่อนลาม

1289

สถานการณ์ล่าสุด ประธานาธิบดีคาซัคสถานยืนยันว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ได้แล้ว “ในเกือบทุกพื้นที่” และขอบคุณความสนับสนุนด้านความมั่นคงจากรัสเซีย และพันธมิตรอดีตสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนูร์สุลต่าน ประเทศคาซัคสถาน ว่าปธน.คาสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เมื่อวันเดียวกันนั้นเกี่ยวกับสถานการณ์ประท้วงทั่วประเทศ ที่ยืดเยื้อตั้งแต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยมีชนวนเหตุจากความไม่พอใจเรื่องราคาเชื้อเพลิงแพง แต่หลังจากนั้นบานปลายกลายเป็นการลุกฮือขับไล่รัฐบาล และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วแทบทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด

อย่างไรก็ตาม กองกำลังติดอาวุธบางส่วนยังคงไม่ยอมจำนน โดยยังคงมีทั้งเดินหน้าก่อเหตุ และเตรียมการก่อเหตุใหม่ ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่อยู่ในข่ายนี้และยังคงปฏิเสธวางอาวุธ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะใช้ “มาตรการขั้นเด็ดขาด” และขอบคุณความสนับสนุนจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (ซีเอสทีโอ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร ระหว่างอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งคาซัคสถานเป็นสมาชิก ร่วมกับรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการขอความช่วยเหลือ

ด้านกระทรวงมหาดไทยของคาซัคสถานรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญ “อาชญากรติดอาวุธ” อย่างน้อย 26 ราย และมีผู้ถูกจับกุมทั่วประเทศมากกว่า 3,000 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างน้อย 18 นาย เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียออกแถลงการณ์ ยืนยัน “จุดยืนหนักแน่น” ของการสนับสนุนคาซัคสถาน ในฐานะที่เป็นพันธมิตรกัน ทั้งนี้การจัดการอย่างทันท่วงทีของซีเอสทีโอ ที่มีรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นการส่งสัญญาณถึง “อำนาจภายนอก” ว่ารัฐบาลมอสโกจะไม่เพิกเฉย และพร้อมใช้มาตรการทางทหาร เพื่อรักษาดินแดนกันชนแห่งนี้ ไม่ให้มีสภาพเหมือนยูเครน ที่เดินหน้าชนกับรัสเซียโดยมีตะวันตกหนุนหลัง

แม้คาซัคสถานเคยเผชิญกับการประท้วงมาแล้วหลายครั้งในอดีต แต่การเคลื่อนไหวในระดับรุนแรงและเป็นวงกว้างขนาดนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประเทศซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งที่สุดในเอเชียกลาง และอยู่ภายใต้การปกครองของนายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ ก่อนมีการ “ถ่ายโอนอำนาจผ่านการเลือกตั้ง” ให้กับคาเซม-โฌมาร์ต โตคาเยฟ เมื่อปี 2019/2562 ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับคาซัคสถาน? เหตุใดกองกำลังทหารที่นำโดยรัสเซียจึงเข้ามาในคาซัคสถานได้

ประการที่1: สถานะของคาซัคสถาน เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชียกลาง โดยการผลิตน้ำมัน หนุนช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มาก และในตอนนี้ยังเป็นแหล่งขุดเหรียญคริปโตที่กำลังมาแรงแห่งหนึ่งของโลก แต่เป็นประเทศสื่อตะวันตก โหมกระพือว่ามีปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงเงินรายได้จากน้ำมันถูกบริหารโดยผู้มีอำนาจในประเทศ ความมั่งคั่งนี้เป็นที่หมายปองของสหรัฐและตะวันตกมาช้านาน แต่แทรกเข้ามายากเพราะความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพันธมิตร อดีตสหภาพโซเวียตที่มีรัสเซียเป็นแกนนำ

ประการที่ 2:จากชุมนุมประท้วง ลุกลามเป็นจลาจล สู่ก่อการร้าย เหตุวิกฤตคาซัคสถานเริ่มจากการชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลลาออก เพราะไม่พอใจขึ้นราคาเชื้อเพลิงบานปลายเป็น การก่อความรุนแรงกว้างขวาง ทั้งในที่ชุมนุมและ สถานที่ราชการ มีการปล้นสะดมห้างร้านต่างๆ ขยายวงกว้างในหลายเมือง เกิดความสูญเสียจำนวนมาก ตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิต 18 รายมีสองรายถูกตัดศีรษะ บาดเจ็บกว่า 300 คน เป็นเหตุให้ ปธน.โตกาเยฟ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 5 -19 มกราคม 2565

เหตุการณ์ลุกลามทำให้ปธน.คาซัคฯร้องขอให้กลุ่มพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม หรือ ซีเอสทีโอ(CSTO) ส่งกำลังหนุนมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ทางกลุ่มได้ส่งทหารมาจำนวน 2,600 นาย

ประการที่ 3: รัสเซียไม่อาจวางเฉยเพราะกำลังเผชิญปัญหา การยั่วยุความขัดแย้งยูเครน-ดอนบาสที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น และความเคลื่อนไหวในคาซัคสถานย่อมส่งผลกระทบกับดุลอำนาจระหว่าง รัสเซียกับสหรัฐและนาโตอย่างไม่อาจละเลยได้