ฮุนเซนเก๋าเกม!เยือนเมียนมาสวนสหรัฐ ไม่สนกลุ่มสิทธิฯ-ฝ่ายต้านประท้วงระงม

1034

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนเนปีดอ พบ ‘มิน อ่อง หล่าย’ เพื่อหารือคลี่คลายวิกฤตพม่า ท่ามกลางเสียงค้านจากกลุ่มสิทธิ-ฝ่ายต่อต้าน ถือเป็นผู้นำประเทศคนแรก ที่พบกับผู้นำรัฐบาลเมียนมา เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการและเป็นภารกิจในต่างประเทศรายการแรกของผู้นำกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนโดยมีการเน้นเกี่ยวกับ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนให้สามารถปฏิบัติได้จริง

กำหนดการเยือนเมียนมาของสมเด็จฮุน เซน ครังนี้มีนัยของการถือฤกษ์ วันที่ 7 ม.ค. ซึ่งถือเป็น “วันแห่งชัยชนะ” สิ้นสุดยุครัฐบาลเขมรแดงและปีนี้ครบรอบปีที่ 43

วันที่ 8 ม.ค.2565 สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานถึง ผลการเยือนเมียนมาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งเดินทางถึงกรุงเนปยีดอในวันศุกร์ที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาโดย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมามาต้อนรับที่สนามบิน ขณะกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างประณามว่าเป็นการให้ความชอบธรรมรัฐบาลทหารที่มาจากการก่อรัฐประหาร ฝ่ายต่อต้านประท้วงเผารูปผู้นำกัมพูชา

กำหนดการเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการนาน 2 วัน โดยฮุน เซน จะได้พบปะกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเมียนมา แต่เรดิโอฟรีเอเชียที่ได้ทุนสนับสนุนจากสหรัฐ กล่าวว่า ผู้นำกัมพูชาจะไม่ได้พบกับนางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ซึ่งถูกตัดสินจำคุกและรอการพิจารณาคดีอีกหลายคดี

 

 

ภาพจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชาเผยให้เห็นว่า เมียนมาส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ วันนะ หม่อง ลวิน มารอต้อนรับ พร้อมด้วยกองทหารเกียรติยศและปูพรมแดง เอเอฟพีกล่าวว่า ฮุน เซน เดินทางมาพร้อมกับนำหน้ากากอนามัย 3 ล้านชิ้น และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ มามอบเป็นของขวัญแก่รัฐบาลเมียนมาด้วย

ผู้นำกัมพูชาบอกไว้ว่า เขาจะใช้โอกาสการพบปะกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพื่อโน้มน้าวให้ผู้นำเมียนมายอมปฏิบัติตาม “ฉันทมติ 5 ข้อ” มีเป้าหมายคลี่คลายวิกฤติเมียนมา ที่ผู้นำกลุ่มอาเซียนเคยตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

ในการประชุมของพวกเขา มิน ออง หล่าย บอกกับฮุนเซนว่า เมียนมาได้ขยายเวลาหยุดยิงกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ทั้งหมดในประเทศที่เดิมกำหนดจะหมดอายุในปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นปี ตามคำแถลงร่วม ปล่อยตัวเมื่อปลายวันศุกร์โดยผู้นำทั้งสองฝ่าย

เขากล่าวว่า “ยินดีที่การทูตพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเมียนมาเข้าร่วมการเจรจาหยุดยิงซึ่งขั้นตอนสำคัญนี้รวมอยู่ในฉันทามติห้าประเด็นของอาเซียน” ถ้อยแถลงระบุว่าผู้นำเมียนมา “ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนทูตพิเศษอาเซียน ในการบรรลุตามหน้าที่ของเขาในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประเด็นตามกฎบัตรอาเซียน” 

กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน พยายามดึงผู้นำเมียนมากลับเข้าสู่เวทีอาเซียน หลังจากชาติสมาชิกตัดสินใจคว่ำบาตร งดเชิญผู้นำทหารนายนี้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องจากไม่พอใจที่โรดแม็ปสันติภาพไม่มีความคืบหน้า

ก่อนการเดินทางฮุน เซน ได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย และวิโดโดยืนกรานผ่านข้อความทางทวิตเตอร์หลังจากนั้นว่า อินโดนีเซียพร้อมสนับสนุนกัมพูชาเดินหน้าคลี่คลายปัญหาในเมียนมาอย่างเต็มที่

ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวไว้ว่า การเยือนของฮุน เซน ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับ “การสานเสวนาอย่างครอบคลุมและความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างทุกฝ่าย”

บรรดากลุ่มสิทธิและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเรียกร้องให้ผู้นำกัมพูชายกเลิกการเยือนครั้งนี้ โดยกล่าวว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อระบอบทหารที่มาจากการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มิน โก ไนง์ นักเคลื่อนไหวในเมียนมา โพสต์ขู่ทางโซเชียลมีเดียว่า ฮุน เซน จะเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน

รอยเตอร์กล่าวว่า มีชาวเมียนมาชุมนุมประท้วงการเยือนของฮุน เซน ในหลายเมือง ที่เมืองเตปายินซึ่งอยู่ทิศเหนือของกรุงเนปยีดอราว 300 กิโลเมตร มีภาพถ่ายเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียที่ผู้ประท้วงเผาโปสเตอร์รูปนายกฯ กัมพูชา และร้องตะโกนว่า “ฮุน เซน อย่ามาเมียนมา เราไม่ต้องการเผด็จการฮุน เซน”นอกจากนี้ยังมีรายงานการประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา และที่เขตตะนาวศรีและโมนยวาด้วย

ด้านแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล โดยอีเมอร์ลีนน์ กิล รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย ออกแถลงการณ์ประณามการเยือนของฮุน เซน โดยกล่าวว่าการเยือนของเขาเสี่ยงต่อการส่งสารที่ปนเปต่อผู้นำทหารเมียนมา และหากฮุน เซน อยากช่วยจริงๆ เขาควรนำอาเซียนดำเนินการอย่างเข้มแข็งเพื่อจัดการกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของเมียนมาหรือพูดง่ายๆคือ ขอให้อาเซียนแทรกแซงเมียนมาเต็มที่แล้ว นั่นก็คือสนับสนุนฝ่ายต่อต้านนั่นเอง

แต่ฮุนเซน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความอดทน โดยยืนยันว่าการเยือนจะส่งผลเชิงบวกแน่นอน

ที่ผ่านมาสหรัฐและชาติตะวันตกได้เพิ่มแรงกดดันทางการทูตและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อฝ่ายบริหารราชการของทหารพม่า ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ 

ภารกิจครั้งนี้เป็นความท้าทายต่อผู้นำกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน ว่าจะทำสำเร็จตามความตั้งใจหรือไม่ ที่จะทำให้อาเซียนกลับมาเป็นปึกแผ่น ยืนหยัดในกฎบัตรอาเซียน ที่ดำรงความเป็นกลางและไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ต้องจับตาต่อไปว่า ท่าทีของสหรัฐและตะวันตกจะทำอย่างไรเมื่อประธานอาเซียนอย่างฮุนเซน ไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐและตะวันตกง่ายๆ เพราะในห้วงเวลานี้ก็ถูกบีบคั้นจากมหาอำนาจและพันธมิตรตะวันตกไม่ต่างจากเมียนมานั่นเอง