‘หยวนดิจิทัล’ผงาด!!ปชช.นิยม-ต่างชาติยอมรับ ดันจีนรุดหน้าแซงสหรัฐศ.ดิจิทัล-เทคโนโลยีขั้นสูง

1114

ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลของจีน หรือ หยวนดิจิทัล (e-CNY) ได้ถูกพัฒนาเข้าไปมีบทบาทในการดำรงชีวิตของชาวจีนและดึงดูดชาวจีนมากยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสในการใช้งานตามสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจีนนับเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ได้ทดลองออกใช้สกุลเงินดิจิทัล โดยจีนได้เปิดตัวหยวนดิจิทัล เมื่อปลายปี 2019/2562

ในขณะที่สภาพเงินปิโตรดอลลาร์ของสหรัฐ เข้าสู่ยุคของการตกต่ำ เนื่องจากสหรัฐใช้เป็นเครื่องมือบีบบังคับประเทศต่างๆ ที่ไม่ยอมทำตามวาระวอชิงตันต้านจีนและรัสเซีย ซึ่งสหรัฐมองว่าคือคู่แข่งท้าทายตำแหน่งมหาอำนาจเดี่ยวครองโลก การใช้เป็นเครื่องมือลงโทษอย่างปราศจากความชอบธรรมบ่อยมาก ส่งผลให้ ประเทศต่างๆหลีกเลี่ยง แล้วหันไปพึ่งพาเงินสกุลอื่นเมื่อนิเวศทางการเงินโลกเปลี่ยนแปลงก้าวสู่โลกดิจิทัล และ “เงินหยวนดิจิทัลของจีน” ได้ผงาดขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อนานาชาติตอบรับอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาค

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 สำนักข่าวซินหัวรายงานถึง สกุลเงินดิจิทัลของจีนหรือหยวนดิจิทัล (e-CNY) ได้พัฒนาเข้าไปมีบทบาทในการใช้ชีวิตของชาวจีนและมีความดึงดูดใจมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่จีนเปิดตัวหยวนดิจิทัลในปลายปี 2019 ปัจจุบันหยวนดิจิทัลสามารถเข้าถึงได้ใน 10 เมืองของจีน ซึ่งรวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น โดยมีการใช้งานตั้งแต่ชำระเงินในร้านอาหารจนถึงการทำธุรกรรมในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) หรือธนาคารกลางจีน ระบุว่ามีการเปิดกระเป๋าเงินส่วนตัวมากกว่า 140 ล้านกระเป๋า เมื่อนับถึงวันที่ 22 ต.ค. ปี 2021 โดยมีปริมาณธุรกรรมรวมเกือบ 6.2 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.25 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ค้าขาย 1.55 ล้านราย ที่สนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านกระเป๋าเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมสาธารณูปโภค บริการจัดเลี้ยง การคมนาคม การจับจ่ายซื้อของ และกิจการของรัฐบาล

นอกจากนี้ในการแข่งขันกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว 2565 ที่กำลังจะมาถึงก็สามารถใช้หยวนดิจิทัลในการทำธุรกรรมต่างๆได้เช่นกัน

นอกจากเงินหยวนดิจิทัลของจีนแจ้งเกิดในโลกแล้ว กล้องโทรทรรศน์ FASTของจีน มีการค้นพบดวงดาวและสสารใหม่กว่า 500 ดวงกลายเป็นสถานที่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกสำหรับการค้นพบพัลซาร์ ซึ่งคือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงมาก และแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในวงการวิทยาศาสตร์แม้แต่นักวิทย์สหรัฐยังต้องยอมรับ

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนค้นพบพัลซาร์ใหม่กว่า 500 ตัวโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุทรงกลมขนาด 500 เมตร เรียกชื่อย่อว่า FAST ซึ่งรู้จักกันในชื่อเทียนหยานของจีนหรือ “สกายอาย” ทำให้เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกในการค้นพบพัลซาร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2020/2564

การใช้ FAST โดยทีมงานระดับนานาชาติที่นำโดยลิ ดิ (Li Di) นักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวแห่งชาติยืนยันการค้นพบความแรงสนามแม่เหล็กที่แม่นยำในเมฆโมเลกุล ซึ่งเป็นบริเวณของตัวกลางระหว่างดวงดาวที่ดูเหมือนพร้อมจะก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ และผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) และนี่คือความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ที่นักวิจัยชาวจีนสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากกล้องสกายอาย

ริดชาร์ด ครุทเชอร์(Richard Crutcher) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์กล่าวว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการทำความเข้าใจฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของการก่อตัวดาวฤกษ์ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกล้อง FAST ในการแก้ไขปัญหาทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่สำคัญ

ครุทเชอร์กล่าวว่าเขาได้ไปเยี่ยมชม FAST เมื่อไม่กี่ปีก่อน และรู้สึกประทับใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดียวที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในโลก ทำให้ FAST มีศักยภาพในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ