สถานการณ์ในประเทศคาซัคสถาน ถึงขั้นนองเลือดแล้วกลางเมืองหลวง ตำรวจคาซัคดับชีพผู้ก่อความไม่สงบหลายสิบศพ ฝ่ายตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ท่ามกลางการประท้วงที่มีการใช้อาวุธสังหารตำรวจ การก่อวินาศกรรม บุกโจมตีเผาและปล้นทรัพย์สินในห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายเมืองแม้นายกฯและคณะรัฐมนตรีจะลาออก สถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นมิคสัญญีขยายวงกว้าง จนในที่สุดรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และร้องขอกองกำลังพันธมิตรรัสเซียส่งกองหนุนช่วยคุมสถานการณ์ และเป็นไปตามสูตรสงครามพันทาง สหรัฐเรียกร้องรัฐบาลคาซัค “อนุญาตให้มีการแสดงออกอย่างสันติ” ด้านยูเอ็นและอียูวอนทุกฝ่ายอดกลั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคาซัคสถาน เหมือนหนังเรื่องเดียวกันกับที่เกิดในฮ่องกง เมียนมา และพยายามให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
วันที่ 7 ม.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศทั้งฝ่ายตะวันตก สื่อพื้นที่และฝ่ายยุโรปรัสเซีย รายงานข่าวอย่างพร้อมเพรียงกันถึงสถานการณ์เดือดในเมืองหลวงของคาซักสถาน
การประท้วงรุนแรงเริ่มต้นจากประเด็น “ราคาแก๊สหุงต้มแอลพีจีขึ้นราคา” ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งชาวคาซัคส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ เกิดกระแสปลุกเร้าความไม่พอใจในสังคมสื่อโซเชียลและได้ลุกลามเป็นการประท้วงขับไล่ผู้นำและอดีตผู้นำของประเทศเอเชียกลางที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้ ก่อวิกฤติครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี
เมื่อคืนวันพุธที่ 4 ที่ผ่านมา เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดที่เมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีการเดินขบวนประท้วงมาตั้งแต่สุดสัปดาห์และเกิดการปะทะระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง รายงานของสื่อท้องถิ่นอ้างคำแถลงของกระทรวงมหาดไทยว่า มีตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 8 นายในวันอังคารและพุธและมีคนบาดเจ็บ 317 คน ทำให้รัฐบาลคาซัค เร่งขอความช่วยเหลือจากกองกำลังพันธมิตรอดีตโซเวียต ซึ่งได้ตกลงส่งทหารช่วยต่อสู้กับ “กลุ่มก่อการร้าย”และการประท้วงโหดที่มีหน่วยติดอาวุธร่วม
สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์-คาซัคสถาน, ทาสส์ และเรียโนวอสตี รายงานคำแถลงของซัลตานัต อาซียร์เบ็ก โฆษกตำรวจว่า “เมื่อคืนที่ผ่านมา กองกำลังหัวรุนแรงพยายามโจมตีอาคารของฝ่ายปกครอง, กรมตำรวจเมืองอัลมาตี รวมถึงสถานีตำรวจท้องถิ่น ผู้ก่อเหตุโจมตีหลายสิบรายโดนยิงเสียชีวิต”
ด้านกระทรวงสาธารณสุขคาซัคแถลงวันเดียวกันด้วยว่า มีคนบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน เนื่องจากการก่อจลาจลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้บาดเจ็บเกือบ 400 คนยังรักษาตัวในโรงพยาบาล โดย 62 คนอยู่ในแผนกผู้ป่วยหนัก
มีวิดีโอหลายคลิปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันพฤหัสบดี เผยให้เห็นร้านค้าหลายร้านโดนปล้นสะดมได้รับความเสียหาย และอาคารหลายหลังในเมืองนี้ถูกเพลิงไหม้ มีเสียงปืนอัตโนมัติดังตามท้องถนน และชาวเมืองกรีดร้องด้วยความหวาดกลัว
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ต่อประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ซึ่งได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ และตะวันตกมองว่า “โปรรัสเซีย”
โตคาเยฟพยายามบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน โดยให้นายกรัฐมนตรี อัสการ์ มามิน นำรัฐบาลลาออกทั้งคณะ และปรับแผนการขึ้นราคาพลังงาน เขายังประกาศด้วยว่า จะไม่รับตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วยแต่การประท้วงยังดำเนินต่อไป
เมื่อวันพุธ เขาประกาศขยายภาวะฉุกเฉินจากเดิมที่บังคับใช้ในเมืองหลวง, เมืองอัลมาตี และเมืองมังกีสเตา แหล่งผลิตพลังงานในภาคตะวันตกที่เกิดการประท้วงรุนแรง โดยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีผลถึงวันที่ 19 มกราคมนี้ พร้อมกันกับการประกาศเคอร์ฟิวยามวิกาล, จำกัดการเดินทาง และห้ามการชุมนุม
เช้าวันพฤหัสบดี โตคาเยฟแถลงต่อประชาชนว่า เขาได้ร้องขอให้องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO) ซึ่งเป็นกลุ่มของประเทศอดีตสหภาพโซเวียต 6 ประเทศที่มีรัสเซียเป็นแกนนำ ส่งกองกำลังมาช่วยสู้รบกับ “กลุ่มก่อการร้าย” ที่การข่าวยืนยันว่า”ติดอาวุธและได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศ”
นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินยาน แห่งอาร์เมเนียที่เป็นประธาน CSTO กล่าวว่า องค์การจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพร่วมในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อรักษาเสถียรภาพและทำให้สถานการณ์ในคาซัคสถาน ซึ่งเกิดจาก “การแทรกแซงจากภายนอก” กลับคืนสู่ภาวะปกติ
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) แถลงเรียกร้องภายหลังเกิดความรุนแรงในคาซัคสถานเมื่อวันพุธว่า ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น ละเว้นจากความรุนแรงและส่งเสริมการสานเสวนากัน โดยสหภาพยุโรปพร้อมสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศ
ด้านรัฐบาลสหรัฐโดยโฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี แถลงว่า ผู้ประท้วงควรสามารถ “แสดงออกได้อย่างสันติ” และเรียกร้องให้ทางการคาซัค “ใช้ความอดกลั้น”
ปธน.คนปัจจุบัน โทคาเยฟ เป็นอดีตประธานวุฒิสภา วัย 68 ปี รับตำแหน่งประธานาธิบดีคาซัคสถาน หลังชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากสหรัฐและโลกตะวันตกว่าการลงคะแนนที่เกิดขึ้น เป็นเพียง “การสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ” จากประธานาธิบดีนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ผู้นำคนแรกของประเทศ ซึ่งลาออกหลังครองอำนาจมานาน 3 ทศวรรษ