เปิดแผนรัฐบาล!?รับมือน้ำมันขึ้น-หมูแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง2.17% ทั้งปีคุมได้ตามเป้า 1.23%

1182

เรื่องร้อนล่าสุดที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก ปรากฎเสียงร้องระงมเร่งให้รัฐบาลเข้ามาช่วยด่วน กรณีราคาเนื้อหมูแพงเกินรับไหว เรื่องนี้ทีมบริหารรัฐบาลไม่อาจนิ่งเฉย ได้กำหนดมาตรการแก้เนื้อหมูแพงทั้งในระยะเฉพาะหน้า ระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นเพื่อคลี่คลายปัญหา หมูไม่พอบริโภค บวกต้นทุนเพิ่ม ได้สั่งห้ามส่งออกชั่วคราว 3 เดือน และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลดต้นทุนเรื่องอาหารสัตว์ เร่งกระจายพันธ์ุ และหาแหล่งเงินทุน หนุนรายย่อยทำฟาร์มที่เหมาะสมลดเสี่ยงโรคระบาด

วันที่ 6 ม.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง สืบเนื่องจากปริมาณสุกรที่ลดลง ต้นทุนการเลี้ยงสุกรปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อหมูปัจจุบันมีราคาสูงมาก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกัน และได้ข้อสรุปดังนี้

1) มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 

การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตมาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว

การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น 

 

การเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค

2.มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด  

3.มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ทั้งยังจะมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

การที่สินค้าเดินแถวพากันแพงก็มีสัญญาณบ่งบอกมาตั้งแต่ปลายปีแล้ว ด้านกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2564ที่ผ่านมา เพิ่ม 2.17% เหตุราคาน้ำมันสูงขึ้น เป็นปัจจัยภายนอกกดดันที่กลุ่มผลิตมีมติไม่เพิ่มกำลังการผลิตในขณะที่ความต้องการในตลาดเพิ่มสูงต่อเนื่อง ทำให้ เนื้อหมูราคาแพงขึ้น ผัก ไข่ นม อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน น้ำมันปาล์ม สูงไปด้วย ระบุทั้งปี 2564 เพิ่ม 1.23% ใกล้เคียงที่ประเมินไว้ ส่วนปี 2565 คงเป้าเดิม 0.8-2.4% ค่ากลาง 1.5% แม้โอมิครอนระบาด เรียกว่ายังพอรับไหวหากเทียบกับเพื่อนบ้านหรือสหรัฐอเมริกา

นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค. 2564 เท่ากับ 101.86 เทียบกับเดือน พ.ย. 2564 ลดลง 0.38% เทียบกับ ธ.ค. 2563 เพิ่มขึ้น 2.17% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ 0.8-1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2563 และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.23%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น 26.26% แม้รัฐบาลจะช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ราคาขายปลีกในประเทศยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่มีราคาค่อนข้างต่ำ เนื้อสุกรเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง ทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าดูแลและการป้องกันโรคระบาด ผู้เลี้ยงรายย่อยลดการเลี้ยง ทำให้หมูเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผักสด เช่น มะเขือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมันปาล์ม ราคาขึ้นตามวัตถุดิบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สูงขึ้นหลังสิ้นสุดโปรโมชัน บุหรี่ สูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว จากผลผลิตที่มีมากขึ้น ผลไม้ เช่น เงาะ ส้มเขียวหวาน น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป ที่ลดลงจากการกระตุ้นการขาย เสื้อผ้า ค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ค่าเช่าบ้าน และค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ขณะที่สินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต

 

สำหรับเงินเฟ้อปี 2565 เดิมคาดไว้ว่าจะอยู่ในช่วง 0.7-2.4% ค่ากลาง 1.5% แต่ผ่านมาแล้ว 1 เดือน และมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จึงยังยืนยันเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ไว้ตาม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ มาจากแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต และความต้องการด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบ มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาท และการขาดแคลนแรงงาน และยังต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน