อิหร่านจี้ยูเอ็น!!? ‘เอาเรื่อง’สหรัฐ ดับชีพแม่ทัพสุไลมานี แค้นนี้ต้องชำระ

1291

3 มกราคม เป็นวันรำลึกถึงพฤติกรรมใช้ศาลเตี้ยของสหรัฐ เด็ดชีพฝ่ายตรงข้ามหน้าตาเฉย อวดอ้างข้อหาที่ไม่มีการพิสูจน์หรือใช้กระบวนการยุติธรรมอื่นใด ในปีนี้ ประชาชนทั้งอิรักและอิหร่านยังไม่ลืม ได้ออกมาเดินขบวนสาปแช่งรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ทางการอิหร่านได้เรียกร้องสหประชาชาติ “ดำเนินการอย่างเป็นทางการในการก่ออาชญากรรม” กับรัฐบาลวอชิงตัน ในปีที่สองของการครบรอบ เหตุการณ์ที่กองทัพสหรัฐลอบสังหาร พล.อ.คัสเซ็ม สุไลมานีในอิรัก ต้องติดตามต่อไปว่า สหประชาชาติจะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร บทพิสูจน์ธาตุแท้ว่าความจริงเป็นองค์กรตัวแทนของประชาชาติทั่วโลก หรือเป็นแค่เครื่องมือของมหาอำนาจสหรัฐและตะวันตกเท่านั้น 

ที่อิรัก:ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินทางมาที่แบกแดดเพื่อไว้อาลัยต่อการสังหาร พล.อ.คัสเซ็ม สุไลมานี(Gen.Qassem Soleimani :Quds Force) ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน บนแผ่นดินอิรัก เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของผู้นำกองทัพอันเป็นที่รักของทั้งสองประเทศ โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากอิรักให้หมด ผู้เดินขบวนถือป้าย “การก่อการร้ายของสหรัฐฯ ต้องยุติ” “กองกำลังสหรัฐต้องออกไปจากอิรัก”

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานคณะผู้แทนถาวรอิหร่านประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ส่งหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นจีเอ ขอให้มีการ “ดำเนินการอย่างเป็นทางการ” กับสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ลอบสังหาร พล.อ.คัสเซ็ม สุไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษ “คุดส์” แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ( ไออาร์จีซี ) เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563

ในจดหมายที่ส่งถึงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานประธานาธิบดีอิหร่านเรียกร้องให้มี “การริเริ่มทางกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในอำนาจของสหประชาชาติ”รวมถึง“การยอมรับมติ”เพื่อประณามการสังหารดังกล่าว และให้“ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการก่ออาชญากรรมในอนาคต”

เนื้อหาในจดหมายระบุว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้อ้างความรับผิดชอบอย่างเปิดเผยในขณะนั้น กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกันได้แสดง”ลัทธิฝ่ายเดียวสุดโต่ง”มานานแล้ว นอกจากนี้วอชิงตันยังละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศในขณะที่”ประชาคมระหว่างประเทศยังคงเพิกเฉยอยู่”

กฎบัตรของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเอกสารพื้นฐานและเป็นพื้นฐานของฉันทามติระหว่างประเทศในช่วงหลังสงคราม ห้ามไม่ให้รัฐบาลมีส่วนร่วมในการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

สำนักข่าวฟาร์ (Fars) รายงานว่า หัวหน้าอัยการพลเรือนของอิหร่านได้ฟ้องร้องบุคคลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร รวมถึงทรัมป์ หัวหน้ากองบัญชาการกลางสหรัฐ เคนเน็ธ แมคเคนซี จูเนียร์ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ และมาร์ก เอสเปอร์

สำหรับเหตุการณ์ลอบสังหาร พล.อ.สุไลมานี เกิดขึ้นใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด ในเขตชานกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก โดยกองทัพสหรัฐเป็นผู้ยิงโดรนติดอาวุธโจมตีรถยนต์ซึ่งกำลังแล่นอยู่บนถนนใกล้กับสนามบิน ที่มีการ “ชี้เป้า” แล้วว่า พล.อ.สุไลมานี เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร

 

หลังเกิดเหตุ ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า พล.อ.สุไลมานี “คือภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง” และปฏิบัติการครั้งนี้ “มีผลพลอยได้” คือ การเสียชีวิตของนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนไหวประชาชน หรือ “ฮัชด์” ซึ่งเป็นเครือข่ายกองกำลังนักรบชีอะห์ในอิรักที่ฝักใฝ่อิหร่าน

แม้รัฐบาลวอชิงตันยืนยันจนถึงปัจจุบัน ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า สหรัฐไม่ต้องการทำสงครามกับอิหร่าน และไม่คิดโค่นอำนาจ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของ พล.ต.สุไลมานี ทำให้ความสัมพันธุ์ในฐานะศัตรูระหว่างสหรัฐและอิหร่านเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ แม้ทางการทูตสหรัฐจะอ้างว่าไม่มีแนวคิดโค่นล้มผู้นำอิหร่าน  แต่การสนับสนุนทั้งงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารระดับสูงแก่อิสราเอล ซึ่งประกาศรบทำลายล้างอิหร่านอย่างเปิดเผย  ก็ได้กระชากหน้ากากของสหรัฐอย่างล่อนจ้อนว่า เนื้อแท้คิดอย่างไรกับอิหร่าน

ล่าสุดสหรัฐมีการจัดงบถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเตรียมร่วมกับอิสราเอลถล่มอิหร่านอย่างโจ่งแจ้ง เป็นเหตุให้อิหร่านเปิดแผนเตรียมรับมือทางการทหารอย่างต่อเนื่องในช่วงต่อปี 2564ท่ามกลางการเจรจาเพื่อปลดนุกส์อิหร่าน และปี 2565 จะเป็นปีแห่งความตึงเครียดขั้นสูงระหว่าง อิสราเอล สหรัฐและอิหร่านที่นานาชาติต้องจับตา