จากกรณีที่วันนี้ (2 มกราคม 2565) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 โดยระบุว่า
วันนี้มีความคืบหน้าใน “ทางออก” ที่ผมได้เสนอไว้ตอนที่ดีเบต ม.112 กับคุณปิยะบุตร เมื่อ 5 พ.ย.64
ระหว่างดีเบตผมย้ำหลายรอบถึง “ทางออก” ตลอดรายการว่า สถานการณ์อย่างนี้ ม.112 ไม่ควรแก้ไขอย่างยิ่ง โดยมีวิธีทำให้ชัดเจนได้ว่า กรณีใดเข้าข่ายผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาแล้วด้วย คือการตั้ง “กรรมการกลั่นกรองคดี ม.112” ถ้ากรณีไหนมีแนวปฏิบัติว่าไม่เข้าข่ายก็ปล่อยเลย อันไหนชัดเจนว่าเข้าข่ายก็ดำเนินคดีไป
ผมทำทันที คือ 8 พ.ย.64 เข้ายื่นหนังสือและเข้าหารือตรงกับ รมต.ยุติธรรม
ผมย้ำชัดยืนหยัดปกป้องและคงไว้ซึ่งหลักการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ไม่ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกม.112 ทั้งสิ้นโดยให้ตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองคดี” บ่ายเมื่อวาน รมต.ยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้แจ้งกลับมาแล้วครับว่า… ทางกระทรวง “เห็นด้วยในหลักการที่จะตั้งคณะกรรมการฯ” จากที่เลขาธิการพรรคกล้าได้มีจดหมายเรียกร้องกับกระทรวงยุติธรรม และได้แจ้งท่านนายกฯ แล้ว ซึ่งท่านนายกฯ ก็ลงนาม “เห็นชอบ” ด้วยเช่นกัน
ก้าวแรกสำเร็จแล้ว ส่วนก้าวต่อไปฝากรัฐบาลด้วย ความตอนหนึ่งของพรปีใหม่ 2565 ที่ในหลวงพระราชทานให้คนไทยน่าเก็บมาคิดครับ “ความรักสามัคคี ความอดทน และความเข้าใจปัญหา จะพาให้เราผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลาย”
ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ในรายการมีเรื่อง Live EP.14 ที่ออกอากาศผ่านช่องทางยูทูบดำเนินรายการโดย น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ได้เปิดการสนทนาระหว่างนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ เลิก-แก้-ไม่แตะ 112
ซึ่งในวันนั้น นายปิยบุตร ย้ำถึงการแก้ไขมาตรา 112 โดยมองว่า มาตรา 112 อยู่ในกลุ่มกฎหมายฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เห็นว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นทั้งระบบ ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถึงบุคคลธรรมดาควรออกจากคดีอาญาได้แล้ว เปลี่ยนมาเป็นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งแทน และยังเป็นเทรนด์ของโลกและสหประชาชาติสนับสนุนยกเลิกโทษอาญาออกจากคดีหมิ่นประมาท
ด้านนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 ในขณะนี้ยังไม่ควรกระทำทั้งสิ้นและย้ำว่า 112 เป็นโทษที่มีฐานความผิดที่กว้างตั้งแต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปจนถึงเรื่องอาฆาตมาดร้าย ซึ่งตัวฐานหลักก็กว้างตัวโทษก็กว้าง ตั้งแต่ 3-15 ปี เมื่อโทษกว้างตัวคดีก็กว้าง จึงอยากชวนกำหนดแนวทางปฏิบัติของมาตรานี้โดยการตั้งคณะกรรมขึ้นมาหนึ่งชุด ที่ฝ่ายบริหารสามารถทำได้เลย ซึ่งบ่อเกิดของกฎหมายไม่ได้เกิดแค่ในรัฐสภา แต่สามารถเกิดจากแนวปฏิบัติ แนวคำพิพากษาและวินิจฉัยของศาล และคดีนี้ความผิดนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นและมีมานานแล้วก็ต้องรวบรวมมาทั้งหมดจะได้เป็นแนวทางในคดีอื่นๆ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ฟ้องหมด ไปตัดสินที่ศาล จนรกโรงรกศาล
พร้อมกับย้ำว่า “คุณต้องคิดและต้องเข้าใจ สังเกตไหมว่าอาจารย์เองไม่โดน 112 แต่คนฟังอาจารย์ เขาโดน 112 ดังนั้นอาจารย์ต้องเคลียร์ให้เขาเข้าใจว่าเราจะไปช่วยเขาได้อย่างไรด้วยวิธีการที่เร็วที่สุด แต่ถ้าเกิดดันไปสู่กระบวนการแก้ไขมันต้องดูคะแนนเสียงในสภาด้วยว่ามันไปหรือเปล่าเสียงข้างมากในสภาไปได้ไหม ขี้หมูขี้หมาคุณเสียเวลากับมัน 8 เดือนไปกับเรื่องพวกนี้แล้วคนที่เขายังเสียหายยังรอการตัดสินหรือเขาเป็นคดีความอยู่มันก็ต้องไปช่วยเขาถูกไหม ผมคิดแบบนี้เพื่อไปสู่ทางออกให้ได้ นี่คือจุดยืนของผม”
นอกจากนี้ นายอรรถวิชช์ ยังระบุอีกว่า ช่วงสิบกว่าปีที่ทำการเมืองหนักมากแล้ว ใกล้เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แบ่งคนออกเป็นสองฝ่ายทันที ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง คราวนี้ตนกลัวมากเรื่องการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นประเด็น พยายามจะหาจุดลงตัวให้ได้ว่า อะไรที่ไม่เข้าใจและพอจะคุยกันได้ทางวิชาการ ตามปกติโทษอาญาระบุตามมาตรา 18 แต่ถ้าจะให้มาตรา 112 เป็นไปในลักษณะทางแพ่ง รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาททุกอย่าง แบบนี้คนไม่เท่ากัน แปลว่าคนรวยด่าใครก็ได้ ถ้าให้ค่าสินไหมทดแทนเข้าไปตอบโจทย์ แปลว่ารวยกว่าคนอื่น สูงกว่าคนอื่น ก็สามารถจะด่าใครก็ได้ แล้วไปจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน อย่าลืมว่าเวลาเสียหาย
นอกจากนี้ศาลจะดูว่าบางส่วนหรือไม่ จะทำให้สังคมนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม คนรวยได้เปรียบในประเด็นนี้ และขอฝากว่าเวลาดูเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเสรีภาพ ต้องดูอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องภราดรภาพ สังคมต้องมีความน้ำหนึ่งใจเดียวกันถึงจะมีทางออก ไม่อย่างนั้นก็จะแบ่งซ้ายแบ่งขวาแล้วรุนแรงทั้งคู่ หาทางออกไม่ได้