กัมพูชาให้คำมั่น!?ผลักดันแก้ขัดแย้งเมียนมา ขณะอียูเพิ่มคว่ำบาตร ห้ามส่งอาวุธให้รัฐบาลพม่า

1301

ในช่วงเปลี่ยนผ่านปี2564 สู่ปีใหม่ 2565 สงครามในเมียนมายังระอุเดือดไม่หยุดเดือนสุดท้ายของปี กองทัพเมียนมาระดมถล่มฐานกองกำลังกะเหรี่ยงเค เอ็น ยู ฐานที่มั่นฝ่ายต่อต้าน ที่เขตเมืองเมียวดี ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง ชาวบ้านเมียนมาตามแนวชายแดนทะลักหนีภัยสู้รบเข้ามาฝั่งไทย รวมทั้งมีกระสุนปืนใหญ่ข้ามมาตกใส่บ้านเรือนราษฎรไทย จนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยต้องยิงกระสุนควันเตือนกลับไป และจัดหน่วยลาดตระเวนตลอดเส้นทางชายแดนติดกับแนวสู้รบ ในขณะที่ไทยยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวบ้านผู้หนีภัยสงครามอย่างต่อเนื่อง

ปีใหม่นี้กัมพูชาซึ่งเป็นประธานกลุ่มอาเซียน ได้ประกาศอาสาเข้าเจรจากับรัฐบาลเมียนมาหวังนำทุกฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจา ลดความสูญเสียและความเปราะบางของสงครามในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านอาเซียน ไม่ให้ยืดเยื้อและไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติภายนอกเข้าแทรกแซง

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2564 สำนักข่าวพนมเปญโพสต์(Phnom Penh Post) และ สำนักข่าวแขมร์ไทมส์ (Khmer Times)รายงานอ้างถ้อยแถลงของนายปร๊ะ สุคน รอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา(Mr. PRAK Sokhonn, Senior Minister, Minister of Foreign Affairs and International Cooperationi) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวเกี่ยวกับแผนดำเนินการระหว่างเป็นประธานอาเซียนในปี 2565 ว่า กัมพูชา จะสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนเป็นแกนกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงและความรุ่งเรืองภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคีและกลไกที่อาเซียนริเริ่ม โดยให้คำมั่นการผลักดันให้เมียนมามีท่าทีอ่อนลงและยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งจะสะท้อนความเป็นเอกภาพของอาเซียนที่ควรมีครบ 10 ประเทศ ก่อนจะพิจารณาการรับติมอร์เลสเต เป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎบัตรอาเซียน และเสนอให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนดำเนินการต่อไป

ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 ธ.ค.2564 นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา ได้พบกับ วันนา หม่อง ลวิน(Wunna Maung Lwin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ในกรุงพนมเปญโดยมีรายงานว่าการเจรจาที่เน้นไปที่ “การแสวงหาวิธีการฟื้นฟูความร่วมมือที่ดีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในอาเซียน” หลังการประชุม ผู้นำกัมพูชายืนยันว่าเขาจะเดินทางไปเมียนมาร์ในวันที่ 7-8 มกราคม2565 เพื่อเข้าร่วม “การทูตอย่างเงียบ ๆ” กับรัฐบาลทหารเมียนมา

ความเคลื่อนไหวของฮุน เซนนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา  มีแนวโน้มที่จะรับประกันว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาร์จะรวมอยู่ในการเจรจาภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในระหว่างการเป็นประธานของกลุ่มในปี 2565 ของกัมพูชา หลังจากที่ถูกกีดกันออกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายปี ตุลาคม2564  ในการประกาศการเยือนของเขา ผู้นำกัมพูชาเน้นว่าเขาจะพยายามบรรลุการฟื้นฟูความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในครอบครัวอาเซียนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น

ขณะที่นานาชาติโดยเฉพาะอียูได้แสดงท่าทีจะเพิ่มการคว่ำบาตรทางอาวุธ หรือ อาร์ม เอ็มบาร์โก(Arms Embargo)ต่อรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย

สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงาน กรณีนายโจเซป บอร์เรลล์(Josep Borrell) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ธ.ค.2564 ว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงล่าสุดในเมียนมา นานาชาติจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการป้องกัน รวมถึงการปิดล้อมอาวุธต่อเมียนมา และอียูพร้อมที่จะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิมเติม ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมา ซึ่งนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ต้นปีนี้ อียูได้ประกาศคว่ำบาตรแบบเจาะจง ต่อกองทัพเมียนมา รวมทั้งกลุ่มผู้นำกองทัพ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวพันกับกองทัพ และระงับความช่วยเหลือทางการเงินของอียูต่อรัฐบาลทหาร