จากที่ ศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งเพนกวิน พริษฐ์-อานนท์ นำภา -ไมค์ ภาณุพงศ์-ไผ่ จตุภัทร โดยศาลเห็นว่ายังมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้าปล่อยตัวไป ทั้งหมดจะไปกระทำในลักษณะเดิมซ้ำอีก ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมนั้น
โดย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คณะผู้พิพากษาศาลอาญาประชุมลงมติกันไม่ให้ประกันตัวทั้ง 4 คน ส่วนแนวทางสู้คดีจากนี้มี 3 แนวทางคือยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว , การยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง และสุดท้ายคือ ไม่ต้องยื่นประกันตัวเลยซึ่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนและครอบครัวปรึกษาแนวทางร่วมกัน
ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวในฐานะทนายความคิดว่า โอกาสจะได้การรับประกันตัวยากมาก แต่ละคนมีโทษหลายคดีต้อง หากไม่ได้รับการประกันตัวต้องถูกจองจำระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 3 ปี โดยเทียบกับคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อปลายปี 2563 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้นัดสืบพยานนัดแรกปี 2566 ซึ่งถือว่ายาวนานมาก ซึ่งตนต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว หลังมีคำสั่งมาให้ประกันญาติของแกนนำราษฎรหรือ ‘ราษมัม’ ก็ร้องไห้ด้วยความผิดหวังและเสียใจและตนเองก็ไม่รู้จะปลอบอย่างไรด้วย
อย่างไรก็ตามนายกฤษฎา กล่าวยืนยันว่า ผู้ต้องหาคดีอาญาทุกคนควรได้รับการประกันตัว ตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายที่ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นคดีร้ายแรงหรือโดนกี่คดีก็ตาม ขณะที่มีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายอัยการกับฝ่ายทนายความจำเลย โดยฝ่ายอัยการ เห็นว่าคดีมีความร้ายแรง จึงคัดค้านการปล่อยตัวและศาลก็เห็นตาม
“ในส่วนนี้อัยการซึ่งเป็นทนายแผ่นดินควรทบทวนหลักคิดและการทำหน้าที่ของตัวเองเกี่ยวกับหลักการ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อยังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุดว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาด้วย ที่สำคัญคดีนี้ ตนยืนยันกับผู้เกี่ยวข้องและผู้บริหารศาลอาญาหลายครั้งว่า เป็นคดีการเมือง ซึ่งราษฎรขัดแย้งกับผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐบาลย่อมไม่พอใจและเอาผิดข้อหาร้ายแรง” นายกฤษฎางค์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สังคมก็รับรู้ว่าตำรวจในชั้นพนักงานสอบสวนมีมาตรฐานขนาดไหน ใช้ถุงดำคลุมหัวเพื่อบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพก็ทำได้ มีหลายคดีทำส่งอัยการฟ้อง และทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องติดคุกหลายปี เนื่องจากไม่ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้หรือพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องคดีในที่สุด อย่างเช่นคดี “เชอรี่แอน” ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวกรณีจับแพะ
กระนั้นทีมข่าวเดอะทรูธ มีความกังวลว่าการไปลากเอาคดีจับแพะเชอรี่แอน ของทนายกลุ่มสามนิ้ว อาจทำให้สังคมสับสนและรับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะคดีดังกล่าว แตกต่างกับคดีที่แกนนำม็อบถูกสั่งฟ้องราวฟ้ากับเหว เรียกว่าเป็นคนละเรื่อง นั่นเพราะแกนนำแต่ละคนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีตามความผิดมาตรา 112 ที่แกนนำได้รับการปล่อยตัว ทางศาลให้ประกันไปหลายครั้งด้วยเงื่อนไข แต่เมื่อปล่อยออกไปก็ปรากฏตามที่สารธารณชนได้รับทราบคือ แกนนำรวมทั้งแนวร่วมบางคนยังทำผิดความในทำนองเดียวกันอีกซ้ำๆหลายครั้ง อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ยังมีพยานหลักฐานเป็นคลิปที่มัดแน่นด้วย ซึ่งยืนยันได้ว่าบรรดาแกนนำและแนวร่วมกลุ่มสามนิ้วไม่ใช่แพะอย่างแน่อน
ดังนั้นเองทีมข่าวเดอะทรูธ จึงขอ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 คดีน.ส.เชอรี่แอน ดันแคน นักเรียนโรงเรียนพระกุมารเยซูคริสต์ (โฮลี่)ที่ถูกฆาตกรรมทิ้งศพในป่าชายเลน ต.บางปูใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ โดยมีเนื้อหาบางช่วงว่า ตำรวจ จ.สมุทรปราการ จับกุม นายวินัย หรือแจ๊ค ชัยพานิช แฟนของเชอรี่แอน และลูกน้องอีก 4 คนคือ นายรุ่งเฉลิม หรือเฮาดี้ กนกชวลาชัย, นายธวัช กิจประยูร, นายพิทักษ์ ค้าขาย และ นายกระแสร์ พลอยกุ่ม
โดยอาศัยพยานปากเอกคือ นายประเมิน โภชพลัด คนขี่รถสามล้อรับจ้าง ที่อ้างว่าเห็นทั้งหมดแบกร่างเชอรี่แอนออกมาจากอาคารที่ทำงานของนายวินัย ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวินัย ส่วนลูกน้องโดนส่งขึ้นศาลทั้งหมด
จากนั้น นายวินัย เข้าร้องเรียนกองปราบปราม ให้ช่วยติดตามคดีนี้ ซึ่งกองปราบฯ สอบพบว่า น.ส.เชอรี่แอน ถูกฆาตกรรมโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้ง 4 คน แต่ขณะนั้นทางอัยการได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลแล้ว
ต่อมาศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตทั้งหมด ก่อนที่ศาลฎีกาจะยกฟ้องเมื่อปี 2538 โดยในเดือนสิงหาคม 2538 ศาลชั้นต้นตัดสินประหาร น.ส.สุวิบูล และนายสมพงษ์ ส่วนนายสมัคร ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต จากนั้นเดือนพฤษภาคม 2542 ศาลฎีกายกฟ้อง น.ส.สุวิบูล ส่วนมือฆ่าเชอรี่แอน ต้องรับโทษตามที่ศาลชั้นต้นตัดสิน