สามนิ้วโชว์เถื่อน เผาชุดคุรย-พ่นสเปรย์ป้ายศาล หลัง4แกนนำคุกข้ามปี! ย้อนเคยสาดสีหน้าสตช. โดนคดีอื้อ!
จากกรณีที่วันนี้ (24 ธันวาคม 2564) เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวคดีดำอ. 286/64 และคดีดำอ.287/64 ที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มราษฎรเป็นจำเลยฐานดูหมิ่นสถาบันฯ
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังคำสั่ง ระบุถึงความมั่นใจในการประกันตัวครั้งนี้ว่า ส่วนตัวพูดตามตรงว่ายังไม่มีความมั่นใจ เพราะว่าหลาย ๆ เรื่องมีมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างตุลาการ อัยการและทางเรา เพราะฉะนั้น ตนขอให้รอฟังคำสั่งดีกว่า เพราะเราผิดหวังมาหลายครั้งแล้ว
นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นข้อดีตรงที่ว่าผู้ต้องหาทางการเมืองในคดีมาตรา 112 หลาย 10 คนก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนนายอานนท์กับนายภานุพงศ์ ในคดีหลักก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่มาติดในเงื่อนไขคดีอื่น หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องคำร้องให้ศาลมาหลายครั้งแล้ว ศาลก็ยกคำร้องตลอด มีครั้งนี้ที่ศาลนำมาไต่สวนและใช้เวลายาวนานกว่า 1 อาทิตย์ ตนคิดว่าให้เป็นดุลพินิจของศาล ทางเราก็มีความเชื่อว่าการที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาคดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นคดีทางการเมืองหรือนักโทษหรือผู้ต้องหาในคดีอื่น ๆ ซึ่งมันเป็นสิทธิ์ที่ควรจะได้รับการปล่อยชั่วคราว
นายกฤษฏางค์ ยกตัวอย่างคดีการเดินไปสถานทูตเยอรมนี โดยในคดีนี้มีผู้ต้องหา 10 กว่าคน แต่น.ส.เบนจา อะปัญเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในขณะที่จำเลยคนอื่น ๆ ได้รับการปล่อยอันนี้คิดว่าเป็นการพิสูจน์ ว่าศาลจะมองในมุมใด ซึ่งอาจจะคิดแตกต่างกัน เพราะคดีดังกล่าว ศาลจะนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกปี 2566 ถ้าน.ส.เบนจา ไม่ได้รับการปล่อยตัวก็จะต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำทัณฑสถานหญิง 2 ปี กว่าจะได้ขึ้นศาล หากน.ส.เบนจาไม่ผิด แล้วศาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 เพียง 2 คดีเท่านั้น ตนก็มั่นใจว่าถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาพวกเขาน่าจะได้รับการปล่อยชั่วคราว
“การที่เรารับเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ให้กักตัวในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง การที่ถูกกักอยู่ในบ้านกับการที่ขังในเรือนจำก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าอยู่ที่บ้านจะมีความปลอดภัยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้มีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ต่อไป โดยไม่เสียอนาคต เราก็คิดว่าบุคคลที่เหลือก็ควรจะได้รับสิทธิ์ปล่อยตัวเช่นกัน” นายกฤษฎางค์กล่าว
ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม กลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งนัดร่วมกันใส่หน้ากากจัดกิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” โดยเดินจากหน้ายูเนี่ยนมอลล์ห้าแยกลาดพร้าว และมาปักหลักบริเวณหน้าศาลอาญา ไม่พอใจต่อคำสั่งศาล โดยมีการเผาเสื้อครุย และตำรากฎหมายพร้อมทั้งวางดอกกุหลาบเพื่อแสดงความไว้อาลัยถึงกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งเตรียมแถลงการณ์ยกระดับการชุมนุม ทั้งนี้ ได้มีการฉีดพ่นสีเสปรย์ บริเวณป้ายหน้าศาลอาญาด้วย
โดยก่อนหน้านี้ การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ก็ได้มีการสาดสีใส่ป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริเวณโดยรอบเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 พ.ย. 63 จากการสำรวจพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น รอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีกล้องวงจรปิดถูกพ่นสีทับเพื่อป้องกันการหาพยานหลักฐานเอาผิดรวม 13 ตัว ยังมีป้ายชื่อ ตร. กำแพง และโคมไฟที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน ซึ่ง ตร.มอบหมายให้ตำรวจสันติบาลแจ้งความเอาผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด ที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกัน