พวกบริษัทไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับท็อปของโลก ต้องการสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปขึ้นมา เพื่อยุติสภาพที่ต้องคอยพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐสามารถสั่งห้ามขายผลิตภัณฑ์กับจีนทั้งๆที่จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ เป็นเหตุให้สูญเสียรายได้มหาศาล ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นการช่วยเหลือการผลิตที่นำโดยภาครัฐของจีนได้เป็นอย่างดียิ่ง
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2564 สำนักข่าวเอเชียนไทมส์ (Asian Times) ได้เผยแพร่บทความเปิดเผยว่า สถาบันวิจัยของอเมริกาพบว่า บริษัทผู้ผลิตชิปของไต้หวันดูเหมือนจะวางแผนค่อยๆ แยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาแน่แล้ว
กลุ่มบริษัทผลิตชิปของไต้หวันร่วมกันลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมืออุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของพวกเขาเองขึ้นมา ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิด “ทางเลือกสำหรับการหย่าร้างแยกขาดจากฝ่ายตะวันตก” ทีเดียว
ผู้เข้าร่วมลงนามข้อตกลงริเริ่มครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มทางการค้าของไต้หวัน 4 กลุ่มและองค์กรไม่แสวงหากำไรอีก 3 องค์กร รวมแล้วก็คือเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวันทั่วทั้งอุตสาหกรรม
พวกผู้ผลิตชิปของไต้หวัน ซึ่งมีการเชื่อมต่อผูกพันการค้าการลงทุนอย่างมากมายมหาศาลกับจีนแผ่นดินใหญ่ รู้สึกหวาดกลัวว่ามาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯอาจทำให้พวกเขาต้องยุติการใช้อุปกรณ์เครื่องมืออเมริกันในการทำเซมิคอนดักเตอร์สำหรับส่งเข้าสู่ตลาดชิปจีนที่มีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก
แดน ฮัตชิสัน (Dan Hutchison) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของ วีเอสแอลไอ (VSLI) กลุ่มวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564ว่า การมีอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปที่ตั้งหลักปักฐานอยู่ภายในบ้านของตัวเอง “จะทำให้เป็นไปได้สำหรับไต้หวันที่จะหย่าร้างแยกขาดจากฝ่ายตะวันตก ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ มันชี้ให้เห็นว่าโลกแห่งยุคหลังโลกาภิวัตน์ (post-globalization world) กำลังบ่ายหน้าไปสู่ยุคมืดที่จะเต็มไปด้วยการมีอุปทานล้นเกิน (over-supply), ทรัพยากรด้านการวิจัยและการพัฒนาถูกแบ่งสรรกระจัดกระจายจนขาดๆ วิ่นๆ, และนวัตกรรมอยู่ในระดับต่ำ”
ฮัตชิสันเรียกแผนการริเริ่มของไต้หวันนี้ว่า เป็น “ความเคลื่อนไหวเพื่อการป้องกันตัวแห่งยุคหลังโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนมาก โดยมุ่งตอบโต้ทัดทานการกระทำของคณะบริหารสหรัฐฯในปัจจุบันที่มุ่งชัตดาวน์จีน ตลอดจนการที่จีนตอบโต้ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือเครื่องจักรกลของจีนเอง ไม่พึ่งไตัหวัน ไม่อยู่ใต้อิทธิพลอเมริกา”
ประธานสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือกลและอุปกรณ์เสริมของไต้หวันกล่าวว่า ปัจจุบันไต้หวันมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก แต่ 90% ของอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์นำเข้าและควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ทันทีที่อดีตปธน.ทรัมป์เริ่มคว่ำบาตร บริษัทชิปของไต้หวันเริ่มกังวลเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของพวกเขา เหตุการณ์บีบคั้นกีดกันโทรศัพท์มือถือของ Huawei ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเฉพาะโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ธุรกิจโทรคมนาคมหลักของ Huawei โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้รับผลกระทบ สามารถรองรับชิประดับล่างของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ใช่ จีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับบาดเจ็บจากวิกฤตครั้งนี้จริงๆ
หอการค้าสหรัฐเตือนเมื่อปีที่แล้วว่า สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐแล้ว การละทิ้งตลาดจีนจะทำให้สูญเสียการประหยัดต่อขนาดและค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และบริษัทสหรัฐจะมีความสำคัญน้อยลงในห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีระดับโลก ข้อเท็จจริงคืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐสูญเสียไป 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มเป็น 124,000 ล้านดอลลาร์และงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่งสูญหายไป นอกจากนี้ยังสูญเสียรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะได้รับจากจีน 12,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกันต้องสูญเสียเงินทุนจากจีนอีก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรายงานในเดือนต.ค.2564 พบว่ากลุ่มบริษัทไต้หวันมองว่า หากพวกเขาติดตามสหรัฐอเมริกาในการแซงก์ชั่นจีน พวกเขาจะสูญเสียทั้งเงินและชีวิต นอกจากนี้ ชุมชนธุรกิจของไต้หวันก็ไม่เต็มใจที่จะแบกรับความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นนี้ หากไม่มีตลาดแผ่นดินใหญ่ก็หมายความว่าจะสูญเสีย 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐทุกปี