3นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง!! เศรษฐกิจไทย’65 รุ่งแบบ“เสือพร้อมกระโจน”

1966

3 นักเศรษฐศาสตร์ แนวหน้าของไทย 3 ค่ายเศรษฐกิจ ซีไอเอ็มบีไทย-เกียรตินาคินภัทร-เวิล์ดแบงก์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าเหมือนเสือพร้อมกระโจน จากปีนี้ที่เป็นเสือหมอบเลียแผล แต่ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวัง ภายใต้ โควิด-19กลายพันธุ์โอมิครอน

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยในงานสัมมนา เศรษฐกิจประจำปี 2564 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ “ทางรอด 2022” Survival Guide ในช่วงสัมมนาหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า หากพูดถึงเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหมือนเสือหมอบที่เลียแผล หรือนั่งอยู่เฉยๆ เพราะการขยายตัวปีนี้เราคาดการณ์ขยายตัวที่  1.1% ซึ่งขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียน หรือเรียกว่า Sick man of Asia คนป่วยของเอเชีย เพราะจีดีพีไทยปีนี้ต่ำเตี้ยเรี้ยดิน เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักยังไม่กลับมา   

แต่หากมองไปถึงปีหน้า มองว่า เป็นปี ที่เหมือน “เสือที่พร้อมกระโจน”ไปข้างหน้า ที่คาดว่าจะสดใสกว่าปีนี้ โดยมองการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.8% จากโอกาสการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวที่จะกลับมา โดยมีกำลังซื้อระดับกลาง ถึงบน ยังเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ 

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือคนกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ และมองว่าภาครัฐใช้เงินไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการระบาดรอบถัดๆไปก็ยังมีเงิน เพื่อนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจต่อได้ เพื่อให้กำลังซื้อดีขึ้น เพื่อทำให้การระบาดคลี่คลาย 

สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ เศรษฐกิจต่างประเทศปีหน้ายังมีการเติบโต โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป จีน แต่อาจชะลอตัวลงจากปีนี้ ซึ่งเหล่านี้เป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออก เช่นการส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร ผลไม้ กลุ่มนี้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนการจ้างานได้    

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องระวังในปีหน้า มีทั้ง ปัจจัยจากสงครามการค้า สหรัฐ-จีน ที่ยังคงเป็นแรงกดดัน ตรงนี้จะเป็นโจทย์ที่ต้องติดตาม     

ส่วนการเคลื่อนไหวเงินบาท ประเมินว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปสู่ 34 บาทต่อดอลลาร์ในครึ่งปีแรกปีหน้า และอาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพราจะมีรายได้จากท่องเที่ยว ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้ เหล่านี้จเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจไทย 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากพูดถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ปี 2562 เศรษฐกิจไทยติดลบกว่า 6% ขณะที่ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทย น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 0.9-1% ได้ ขณะที่มองไปถึงปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.9% ภายใต้ความไม่แน่นอนที่จะมีอยู่ค่อนข้างมาก    

โดยปัจจัยชี้วัด ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การระบาดของโควิด-19 จะกลับมาระบาดใหม่อีกหรือไม่ รวมถึง ภาคการท่องเที่ยวว่าจะกลับมาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามมองว่า กว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตเหมือนก่อนโควิด-19 อาจต้องรอไปถึง ปี 2566 

“วันนี้เศรษฐกิจข้างนอกต่างประเทศฟื้นตัวเต็มที่ จนมีปัญหาเงินเฟ้อกันแล้ว ดังนั้นหากเทียบ เหมือนคนอื่นๆปาร์ตี้กันอยู่ แต่เราไม่ได้ enjoy เผลอๆต้องไปล้างจานให้เขาด้วย เพราะหากลองนึกว่า เศรษฐกิจเขาเริ่มฟื้นค่อนข้างเร็ว ฝั่งซัพพลายโตไม่ทัน เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกไม่ได้โตไซเคิลเดียวกัน ทำให้ดีมานด์การผลิตโตไม่ทัน ดังนั้นวันนี้ปัญหาเยอะไปหมด”

ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐจะส่งผลกระทบไทย สถานการณ์คือเงินเฟ้อสหรัฐสูงสุดตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งไม่เคยเห็นเงินเฟ้อสูงระดับนี้มากว่า 40ปี ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐทำได้คือ การคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และทำให้ตลาดแรงงานจ้างงานได้เต็มที่ เราเห็นอัตราการว่างงานสหรัฐลดลงมาเกือบถึงก่อนเกิดโควิดแล้ว ดังนั้นไม่มีเหตุผลให้ต้องผ่อนคันเร่งการทำนโยบาย     

ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเมินว่า สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 2-3 ครั้งหรือราว 0.50-0.75% ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำได้ลำบาก ดังนั้นเศรษฐกิจไทยอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ ภายใต้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งของที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจกำลังโดนผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว

หากปีหน้าการท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้กลับมา ก็จะมีผลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอาจส่งผลต่อเงินบาทที่อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีทิศทางอ่อนค่าได้ ดังนั้นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด 

ด้าน ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เวิร์ดแบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตที่ 1% และปีหน้าคาดขยายตัว 3.9% โดยเชื่อว่าภาครัฐจะมีบทบาทสูงมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจากนอกเป็นผู้จ้างงานแล้ว ยังเป็นพื้นฐานในการประคับประคองเศรษฐกิจฐานรากคือประชาชนทั่วไปที่ต้องการความช่วยเหลือ        

“สิ่งที่ต้องจับตาคือทั้งความไม่แน่นอนของการขนส่ง และปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากซัพพลายที่มีความไม่แน่นอน เพราะภาคการผลิตเกี่ยวโยงกันหมด เพราะปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก หรือ Global Supply Chain อาจทำให้การผลิตโลกเกิดการสะดุด หรือ Supply Chain Disruption ทำให้เศรษฐกิจไทยสะอึกได้ จากปัจจัยเหล่านี้”