มายด์เห็นสภาพเบนจาชุดนักโทษ ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ไม่มียางมัดผม

1771

จากที่เมื่อวันนที่ 17 ธันวาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดพิจารณาคดีของผู้ชุมนุมรวม 13 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมันเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 ที่จัดโดยกลุ่มคณะราษฎรนั้น

ทั้งนี้คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องทั้ง 13 คนในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 , ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยผู้ที่ถูกฟ้องคดีทั้ง 13 คนได้แก่

  1. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 2. กรกช แสงเย็นพันธ์ 3. ชนินทร์ วงษ์ศรี 4. ชลธิศ โชติศักดิ์ 5. เบนจา อะปัญ 6. วัชรากร ไชยแก้ว 7. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 8. อรรถพล บัวพัฒน์ 9. อัครพล ตีบไธสง 10. สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ 11. รวิศรา เอกสกุล 12. โจเซฟ (สงวนชื่อสกุล) และ13. แอน (สงวนชื่อสกุล)

โดยนัดวันนี้เป็นการยื่นบัญชีพยานของทั้งฝ่ายโจมก์และจำเลยต่อศาลเพื่อพิจารณานำพยานเข้าสืบ โดยทางฝ่ายโจทก์แถลงว่ามีพยานบุคคลจำนวน 29 ปาก พยานเอกสารและวัตถุพยานอีกหลายรายการ ส่วนทางด้านจำเลยมีพยานบุคคลจำนวน 23 ปาก รวมถึงพยานเอกสารอีกหลายรายการเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายแถลงไม่รับข้อเท็จจริงจึงไม่มีการตัดพยานและนำพยานเข้าสืบทุกปาก

ขณะที่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ กล่าวถึงการนัดสืบพยานคดีนี้ว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมปี 2566 เพราะทางทนายความเองตอนนี้ก็มีนัดพิจารณาคดีอยู่เป็นจำนวนมก อีกทั้งยังแสดงความห่วงกังวลสภาพจิตใจของ น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวว่า ขณะนี้ต้องอยู่ตัวคนเดียว แต่เชื่อมั่นว่าเบนจายังเข้มแข็งและยังมีความเป็นนักสู้ แต่สิ่งที่เบนจาต้องเจออยู่ในขณะไม่ใช่สิ่งที่มีใครสมควรต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้

“หนูต้องเจอเบนจาในชุดนักโทษที่ต้องใช้สายคล้องหน้ากากมามัดผม รอบที่แล้วหนูจะเอาที่มัดผมที่เป็นผ้าให้ก็เอาให้ไม่ได้เพราะเป็นของต้องห้ามในเรือนจำ หนูมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมมากในเรือนจำ จำกัดเสรีภาพของเขาแล้วยังไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาอีก”

นอกจากนี้ เบนจา ยังเล่าให้ มายด์ ฟังเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงรายอื่นๆ ด้วยว่าถ้าเป็นผู้ต้องขังในแดนแรกรับที่ไม่มีญาติหรือทนายความก็ไม่สามารถซื้อข้าวของส่วนตัวหรือของที่ต้องใช้ในการกักตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม น.ส.ภัสราวลี บอกว่าเรื่องเหล่านี้ทำให้ เบนจา รู้สึกอัดอั้นและไม่พอใจมากที่คุณภาพชีวิตของคนในเรือนจำไม่ได้รับการดูแลให้ดี และทำให้จุดประสงค์ของเรือนจำที่ควรจะทำคนได้ปรับตัวแล้วกลับมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ผิดเพี้ยนไป อีกทั้งเห็นว่า เบนจา ไม่ได้เป็นอาชญากรไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ