อดีตคนในยธ. เปิดชื่อกก.กรมคุก มีคนเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยน-เป็นผู้เสนอชื่อลดโทษนักโทษ!
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (17 ธันวาคม 2564) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ได้เปิดเผย 14 ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปมของการลดหย่อนโทษ หนึ่งในนั้นคือ เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม ต่อมาทางด้านของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ
ล่าสุด นายเทพมนตรี ได้โพสต์ข้อความหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า ใครก็ตามที่เสนอรายชื่อคณะกรรมการอิสระให้ท่านนายกรัฐมนตรีลงนาม คือพวกแทงข้างหลัง มีอย่างที่ไหนกรรมการชุดนี้จะดำเนินการสอบสวนความจริงแต่ดันมีท่านเลขาธิการสำนักงานยุติธรรมมานั่งเป็นกรรมการ ท่านเป็นกรรมการราชทัณฑ์ด้วยนะครับ!
ในขณะที่ทางด้าน แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กต่อเรื่องนี้ว่า นับแต่เกิดประเด็น ยังไม่มีการชี้แจงใดๆที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร ตั้งกรรมการอิสระแล้วคงต้องติดตามเพราะกรรมการทุกชุดที่ตั้งไม่เคยมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเช่นคดีบอส ประเด็นใหญ่ๆที่ต้องดูคือ
1.ในกฎหมายและระเบียบราชทัณฑ์ ไม่มีการพูดถึงประเภทการทำความผิด มีเพียงคำว่านักโทษเด็ดขาด ที่จะนำมากำหนดแนวทางในการลดโทษ ข้อนี้สำคัญมากด้วยเพราะนักโทษทุจริตคอร์รัปชันแผ่นดินค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์และฆาตกรต่อเนื่องควรกำหนดแนวทางแยกชัดเจนไม่ใช่เหมารวมกับคำว่านักโทษเด็ดขาด
2.มีการแก้กฎหมายราชทัณฑ์ในปี 2560 โดยสนช. ทราบว่ามีประเด็นที่ต้องการให้กำหนดกรอบ แต่สุดท้ายก็เป็นเช่นเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นคือกรรมการราชทัณฑ์ถูกปรับเปลี่ยนจากคนในเท่านั้น ให้กลายเป็นกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน และยังกำหนดบทบาทที่น่าจะแก้ปัญหาได้ น่าสนใจว่ากรรมการชุดนี้เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ เสนอแนะอะไรไปบ้างตั้งแต่มีการแก้กฎหมาย
3.ในครั้งนี้เสนอปรับแก้กฎกระทรวงในวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ปรับมาตรการการลดโทษ มีการเขียนชัดเจนว่าวัตถุประสงค์คือเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ และเป็นการให้โอกาสนักโทษเด็ดขาดที่กระทำความผิดซ้ำ นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางที่มีความประพฤติดี
4.เกณฑ์การลดโทษกำหนดในลักษณะที่ต้องมีการกระทำสิ่งดี และห้ามกระทำสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งระดับบนคงไม่สามารถลงในรายละเอียดได้หมด
สี่ประเด็นนี่แหละที่ต้องมีการชี้แจง กรรมการราชทัณฑ์ได้ร่วมประชุมพิจารณาอย่างไรในการเสนอเปลี่ยนเกณฑ์ สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือผู้บัญชาการเรือนจำต่างๆคือผู็เสนอรายชื่อซึ่งเป็นเรื่องภายใน มีการตรวจสอบอย่างไร
มนุษย์นี่แหละ ที่เต็มไปด้วยกิเลส หากคนทั่วไปนิยมชมชอบพฤติกรรมแสวงประโยชน์ มีความสุขกับการบำรุงบำเรอเลี้ยงดูปูเสื่อก็จะเกรงใจที่จะตรวจสอบ
หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญคือ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม สิทธิเท่าเทียม ความเป็นมนุษย์ ได้รับการดูแลด้วยคุณภาพและมาตรฐาน
ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะตื่นรู้ว่าประชาธิปไตยที่พูดกันทั่วไปมีสิ่งเหล่านี้อยู่จริงไหม คนรวย คนมีอำนาจยังคนได้ประโยชน์เหนือคนทั่วไป