“เจ๊หน่อย” หน้าแหก! ศาลไม่รับฟ้อง หลังล่า 7 แสนรายชื่อ ดำเนินคดี “พลเอกประยุทธ์” เพราะไปผิดศาล!?
จากกรณีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โดยระบุว่า จะไปยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวันที่ 13 ส.ค.64 เวลา 10.30 น.ภายหลังรวบรวมรายชื่อได้ 700,000 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้พรรคไทยสร้างไทย ยื่นฟ้องรัฐบาลที่บริหารผิดพลาดบกพร่องในการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งวานนี้ นายโภคิน พลกุล พร้อมด้วย นายวัฒนา เมืองสุข และผู้เสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ไปประชุมกับ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาทางด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีบุคคลหลายกลุ่มจะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยระบุข้อความว่า
กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคคลหลายกลุ่มจะฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารทางสาธารณสุข เพราะความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการแพร่ระบาดถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/news_kcAAzDavqh182844_533-768x512.jpg)
ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๓ วรรคสอง บัญญัติว่า ความใน วรรคหนึ่งมิให้รวมถึง
(๑) คดีที่อยู่ในอํานาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐
มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า ศาลมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/image_big_6056d509ca9b0-2.jpg)
(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า
“ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
(๑) นายกรัฐมนตรี ฯลฯ
“ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบสําหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทําการอันเป็นความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/08-1สุดารัตน์-768x511.jpg)
ตามบทบัญญัติของ พรป. ว่าด้ายการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังกล่าวสรุปได้ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงแหน่งทางการเมือง การกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คือการกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
จึงเป็นคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงน่าจะฟ้องนายกรัฐมนตรีในข้อหาดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไม่ได้
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/2fc08a8db894fa764a57d2cf4982c884f3e3456fd9d1e6b6583e0be5676c0a77-768x512.jpg)
ล่าสุดเมื่อวาน (16 ธันวาคม 2564) สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า
ตามที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้รับการประสานจากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งรวบรวมชื่อประชาชนจำนวนประมาณ 700,000 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยไม่สามารถควบคุม ป้องกันโรค และให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
สมาคมฯ ได้รับเป็นทนายความให้โดยได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลตรวจฟ้องแล้วเห็นว่าเป็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/269025292_4867207653311388_7236998305661310661_n-1-768x1085.jpg)
ด้วยความเคารพต่อความเห็นของประธานศาลอุทธรณ์ แต่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เฉพาะกรณีที่ความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นกับรัฐในภาพรวม เช่น การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือการใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อันมีลักษณะเป็นความผิดต่อรัฐที่รัฐเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้
แต่หากผลการกระทำความผิดต่อรัฐดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายด้วย ประชาชนย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องบุคคลดังกล่าวที่ทำให้ตนได้รับความเสียหายได้ โดยเทียบเคียงกับคดีอาญาทั่วไปที่แม้จะเป็นความผิดต่อรัฐ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานอัยการเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องคดี
![](https://media.truthforyou.co/2021/12/267756149_4867228219975998_6414758746156681537_n-768x512.jpg)
สำหรับคดีนี้ แม้จะเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ผลของความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิต ประชาชนที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 194 และเทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาฎีกา (ประชุมใหญ่) ที่ 5673/2562 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วย่อมถึงที่สุดตามกฎหมาย สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอน้อมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวและขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่ไม่อาจใช้สิทธิของตนทางศาลต่อไปได้ หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายยังประสงค์จะดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีต่อไปจะต้องไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) เพื่อให้ ป.ป.ช. ไต่สวนซึ่งหาก ป.ป.ช. เห็นว่ามีมูลก็จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง ทั้งนี้ สมาคมยินดีที่จะร่วมมือกับพรรคไทยสร้างไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ประสงค์จะดำเนินคดีโดยผ่านช่องทางของ ป.ป.ช. ต่อไป
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 16 ธันวาคม 2564