สื่ออเมริกันเรียกแนวทางบริหารเศรษฐกิจของปธน.โจ ไบเดนว่า ไบเดโนมิกซ์(Bidenomics) ที่ผ่านมาไร้ประสิทธิภาพ ผลงานที่เด่นชัดคือจากการใช้จ่ายไม่สมดุลรายได้ ผลักดันอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานและกำลังฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่สู่ความล่มสลายอย่างไม่คาดคิด ผลการสำรวจพบว่าคนอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างโทษปธน.โจไบเดนว่า การบริหารของเขาล้มเหลวส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่านโยบายของเขาจะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกจนคุมไม่อยู่
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 สำนักข่าวฟอกซ์นิวส์ รายงานว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐได้จัดทำรายงานเมื่อวันอังคารที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤศจิกายน
ฟอกซ์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภค หรือCPIเพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 40 ปี ค่าอาหารค่ำวันขอบคุณพระเจ้าในปีนี้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และในบางรัฐ ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องจ่ายค่าน้ำมันมากกว่าที่เคยเป็นมา
ขณะที่สำนักข่าวยูเอสนิวส์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตหรือ PPI เพิ่มขึ้นที่อัตรา 9.6% ต่อปีในเดือนพฤศจิกายน สูงสุดในรอบ 40 ปี เช่นกัน
ผลสำรวจความเห็นของคนอเมริกันต่อปัญหาเงินเฟ้อของฟอกซ์พบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ลงทะเบียนมีสิทธิเลือกตั้ง ประสบความยากลำบากทางการเงินในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อ โดย 2 ใน 3 กล่าวว่าเป็นเพราะปธน.ไบเดน มีความเป็นผู้นำค่อนข้างน้อย แก้ปัญหาไม่ถูกจุดทำให้ราคาผู้ผลิตและสินค้าทะยานพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด
ประเด็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 47% บอกว่าการกระทำของไบเดนทำให้พวกเขาลำบาก เทียบกับเพียง 22% ที่บอกว่าปธน.กำลังช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน 46% คิดว่าแผนการใช้จ่ายทางสังคมของไบเดนตามโครงการ Build Back Better มูลค่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีก เมื่อเทียบกับ 21% ที่คิดว่าจะควบคุมราคาสินค้าได้
เมื่อไม่นานนี้ ฝ่ายบริหารของไบเดน อ้างว่า ภาวะเงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราว สาเหตุจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อมาเฟด(Federal Reserve)ต้องยอมรับว่ามันจะยืดเยื้อไปอีกนาน และคาดไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เอาไม่อยู่แล้ว”
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวเมื่อวันพุธที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก และประกาศว่าธนาคารจะลดการซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่กดดันเศรษฐกิจโดยพื้นฐาน เพื่อพยายามระงับเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อภาคการใช้จ่าย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังเป็นการปูทางให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากที่เฟดรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ศูนย์ตลอดการระบาดใหญ่ เพื่อพยายามให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันพุธ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการประชุม FOMC ครั้งสุดท้ายสำหรับปี 2564
คณะกรรมการเฟด ได้ตัดสินใจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงอีกเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 เป็นต้นไป คณะกรรมการจะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างน้อยเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และถือครองตราสารหนี้ MBS อย่างน้อยเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าการปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์สุทธิในอัตราที่เท่ากันเช่นนี้ จะเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมในแต่ละเดือน และจะปรับอัตราการซื้อสินทรัพย์ใหม่ หากพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ในอดีตช่วงทศวรรษ 1970 ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของปัญหาวิกฤตอัตราเงินเฟ้อในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 20% และหยุดการซื้อพันธบัตรทั้งหมด ในขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารของอดีตปธน.คาร์เตอร์ในปี 1970 ซึ่งในยุคปัจจุบัน ฝ่ายบริหารของไบเดนยังคงเดินหน้า ตั้งงบฯก้อนใหญ่มหาศาลใช้จ่ายเงินอนาคตอย่างขาดดุลซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯล่มสลาย ทีมเศรษฐกิจของไบเดนใช้จ่ายมากขึ้นในแปดเดือนแรก มากกว่าในปี 2018 และ 2019 รวมกัน
เทียบกับสถานการณ์เช่นนี้ คนอเมริกัน 45% ของผู้ลงคะแนนที่สำรวจโดย ฟอกซ์ คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะแย่ลงอีกในปีหน้า ในขณะที่มีเพียง 26% เท่านั้นที่คิดว่าสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น ขณะที่เมื่อปีที่แล้วคนอเมริกันเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากกว่า คือ 35% คิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง และ 40% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น