ยิ่งเทียบยิ่งชัด!? ยุค “พ.ต.อ.ณรัชต์” นั่งกรมคุก “บุญทรง” ผวาหนักคุกยาว แต่ปัจจุบัน ใกล้ได้กลับบ้าน หรือเพราะมีนอกใน!?

2089

สืบเนื่องจากกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ทำเรื่องยื่นหนังสือป.ป.ช. ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมหรือไม่ โดยทั้ง 2 คนใช้กลไกทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กับบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว

พร้อมชี้แจงว่าการกระทำของนายสมศักดิ์ และนายอายุตม์ ส่อว่าผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหรือกฎหมายอื่นใด และหรือจริยธรรมของข้าราชการหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่สงสัยค้างคาหัวใจของประชาชนผู้รักความยุติธรรมทั้งประเทศ กระทบกระเทือนต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศ จึงขอให้สำนักงานป.ป.ช. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาสอบสวนว่าเป็นการกระทำที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนผิดกฎหมายอื่นใดหรือไม่

แม้ว่านายสมศักดิ์ จะให้สัมภาษณ์ว่าไม่กลัวในการถูกสอบ เพราะตนเองนั้นทำตามขั้นตอน ลดโทษไปตามขั้นตอน และโปร่ง แต่ถ้าหากย้อนไปฟังคำสัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ดำรงตำแหน่งจนถึง วันที่ 30 ก.ย. 2563 นั้น โดยในวันที่ 3 พ.ค.62 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ทุกเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ ได้นำไปประกาศให้ผู้ต้องขังได้รับทราบ

โดยอาจจะมีผู้ต้องขังที่ได้รับการลดโทษตามสัดส่วนและปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยกรมฯ จะเร่งประเมินคุณสมบัติและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อแยกให้ชัดว่า นักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวมีจำนวนเท่าไหร่ และได้ลดโทษตามชั้นต่าง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด และขั้นตอนการตรวจสอบจะดำเนินการอย่างอย่างรัดกุม มีกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้พิพากษา , อัยการ และผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบรายชื่อ ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ได้รับการอภัยโทษหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จจะส่งรายชื่อให้ศาลออกหมายปล่อย และต้องทยอยปล่อยเป็นรุ่น ๆ

โดยยึดในพระราชกฤษฎีกา ที่ได้มีบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายที่เป็นคดีหลักและนโยบายสำคัญ ซึ่งผู้ต้องขัง เช่น คดีค้ามนุษย์ และค้ายาเสพติด คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ทำผิด พ.ร.บป่าไม้ การฮั้วประมูล ก็จะได้ประโยชน์น้อยกว่าผู้ต้องขังคดีอื่น เช่น หากเป็นผู้ต้องขังอายุ เกิน 60 ปี เหลือโทษไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าติดเงื่อนไขในคดีแนบท้ายก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่จะเปลี่ยนเป็นลดวันต้องโทษตามสัดส่วนบางส่วน เว้นแต่เมื่อลดโทษแล้วไม่เหลือเวลาต้องโทษก็ต้องปล่อยตัวไป

และได้ทิ้งท้ายถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นักโทษคดีโกงจำนำข้าวด้วยว่า ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากต้องโทษจำคุก และยังติดเงื่อนไขต้องโทษในคดีทุจริตปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อายุยังไม่ถึง 60 ปี และต้องโทษหลายคดี อาจได้ลดวันต้องโทษ

จนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจาก พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 จนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564 เนื่องในวันพระราชสมภพในหลวง ร.10 วันที่ 28 ก.ค. 64 มีนักโทษได้รับอภัยโทษ และรอบนี้ก็มีชื่อของนายบุญทรงด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564 จากกรณีพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค.พ.ศ. 2564 พบว่ามีรายชื่อนักการเมือง และอดีตข้าราชการระดับสูง ที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 2564 รอบ 2

คือ น.ช.บุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี เป็นนักโทษ ชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษา ปี 60 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 64 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย.2571 จากคดีโครงการจำนำข้าว ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ดังนั้นไทม์ไลน์สำคัญที่จะมีการได้รับอภัยโทษ ในปีเดียวกันที่ผ่านมาจะมี 2 รอบ จึงทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า อะไรคือเกณฑ์ในการลดโทษของนายบุญทรง เพราะหากได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกรอบที่ 3 และ 4 อาจจะได้รับการปล่อยตัวทันที ในปี 2565 เมื่อเทียบกับยุคที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์นั้น ความเป็นได้ในการลดโทษ จะเหลือเวลาติดคุกน้อย และได้รับการปล่อยตัวของบุญทรง มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากคดีที่ทำผิดร้ายแรง และต้องได้รับประโยชน์น้อยกว่าคดีอื่น

แต่เมื่อมาถึงยุคการดูแลของนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนปัจจุบัน โทษจำคุกของนายบุญทรงเหลือเพียง 10 ปี แต่เจ้าตัวจำคุกมาแล้ว 4 ปี ให้นับโทษต่ออีก 6 ปี นายบุญทรงก็จะได้รับการปล่อยตัวในปี 2571 อย่างไรก็ตามเมื่อถูกสังคมทัดทานคัดค้าน การลดโทษของนายบุญทรงอาจจะต้องสะดุดอีกครั้ง จนทำให้สังคมเคลือบแคลงใจอย่างมากว่า เหตุใดที่ผ่านมา นักโทษในคดีโกงระดับชาติ ถึงได้รับลดโทษแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์เช่นนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะการตรวจสอบที่เข้มงวด ในแต่ละยุคของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ไม่เหมือนกันหรือไม่ เพราะตอนนี้นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ก็ถูกนายวัชระ ยื่นต่อป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการทำงานด้วยเช่นกัน