เปิดลึกส่วยช่วยลดโทษ?พบอดีตผตข.เพิ่งร้องแฉจนท.เรียก2ล้านเลื่อนชั้น-อภัยโทษพ้นคุกเร็ว

2087

จากที่แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา กรณีลดโทษของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น

ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564  คุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า “ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่ทั้งท่อนต้นคืองานตำรวจ และท่อนปลายคือราชทัณฑ์ น่าเสียดายที่การขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งสองเรื่องไม่ได้มีในแผนปฏิรูปประเทศ เรื่องของตำรวจยังคงเน้นเรื่องการแต่งตั้งการเลื่อนขั้นที่อยู่ในชั้นการพิจารณาร่วมของส.ว.และส.ส. มีชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา ในส่วนราชทัณฑ์ต่อประเด็นเรื่องการลดโทษนักโทษโกงแผ่นดินเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียว หากข่าวว่านายกฯตอบอย่างไรเป็นเรื่องจริง ข้อนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง การปฏิรูประบบราชทัณฑ์ต้องมองทั้งระบบ


ระบบตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เสนอรายชื่อนักโทษที่จะได้รับการลดโทษ เพราะมีข้อมูลเล็ดลอดมาว่านักโทษร้ายแรงบางคนได้รับโอกาสจากการทำผัดไทยอร่อย ประเด็นนี้มีเรื่องส่วยซ่อนอยู่แน่นอน คงไม่มีแค่ผัดไทยอร่อย”

โดยความน่าสนใจจากที่หมอพรทิพย์ ออกมาพูดนั้น มีเรื่องส่วย ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ที่ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คถึงกรณีการลดโทษให้กับนักโทษช่วงหนึ่งก็กล่าวถึงข่าวการเรียกเงิน ด้วยว่า

“กรณีการลดโทษผู้ที่ถูกลงโทษจำคุกแต่ได้รับโทษน้อยกว่าโทษตามคำพิพากษามากมายที่สังคมกล่าวถึงโวยวายกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดจากปัญหา 2 ประการคือ

การกำหนดชั้นของนักโทษว่าเป็นนักโทษชั้นไหน คือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี และชั้นกลาง นั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไร และใครเป็นผู้กำหนดเพราะในแต่ละชั้นของนักโทษจะได้รับการลดโทษต่างกันมาก กรณีนี้โอกาสที่ผู้มีหน้าที่อาจมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องได้ ดังที่เคยมีข่าวมีผู้ร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำเรียกร้องเงินเพื่อเลื่อนชั้นนักโทษ แต่ข่าวดังกล่าวก็เงียบหายไป”

นั่นเองที่ทำให้ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบถึงข่าวสารว่าเคยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็พบว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อม นายจำรัส อดีตผู้ต้องขังคดีฆ่าคนตาย ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงเดือนเมษายน 2564 ที่เพิ่งพ้นโทษมา พร้อมหลักฐานการโอนเงินข้อความแชทพูดคุยต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือ บก.ปปป.

“หลังจากในช่วงระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายหนึ่ง อ้างว่าสามารถเลื่อนชั้นหรือลดชั้นและได้สิทธิ์การอภัยโทษลดจำนวนการจำคุกได้ โดยต้องจ่ายเงินให้เป็นค่าตอบแทนครั้งละหลักหมื่นบาทถึงแสนบาท โดยอ้างว่าจะต้องนำไปจ่ายให้กับเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการพิจารณา

โดยนายจำรัส ยินยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้หลายครั้งรวมมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท โดยมีทั้งที่จ่ายเป็นเงินสดและที่เป็นการโอนเงินจากญาติมาให้อีก 5 ครั้ง โดยในระหว่างการถูกคุมขังอยู่นั้น ก็มีการถูกเลื่อนชั้นและลดชั้นอยู่บ่อยครั้ง โดยสอดคล้องกับการจ่ายเงินในแต่ละครั้ง หากไม่ยอมจ่ายให้ก็จะถูกลดชั้น โดยอ้างว่าทำเรื่องไม่ถูกต้องหรือไม่เข้าเกณฑ์ตามระเบียบ หากจ่ายให้ตามที่ต้องการก็จะได้รับการเลื่อนชั้น หรือ อภัยโทษ พักนี้มีผู้ต้องขังที่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายดังกล่าวหลายคน

บางคนที่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่เรียกรับก็ได้รับการพ้นโทษเร็วกว่า โดยนายจำรัส มีโทษจำคุก 23 ปี 4 เดือน แต่จำคุกจริงเพียงแค่ 5 ปี แต่ผู้ต้องขังรายอื่นที่จ่ายเงินให้กับพ้นโทษได้เร็วกว่าตัวเองทั้งที่โทษจำคุกมากกว่า

ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการเรือนจำให้ตรวจสอบแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไป กระทั่งได้ทำเรื่องไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทางกระทรวงได้รับเรื่องแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไปอีก ทั้งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นายดังกล่าวก็รับสารภาพในขั้นตอนการสอบสวน จึงเข้าร้องเรียนกับนายอัจฉริยะ และเข้าแจ้งความให้ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะคิดว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่คนเดียวและอาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในระดับเรือนจำและกระทรวงเกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องดังกล่าวทำให้กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ผล และทำให้เกิดผู้กระทำความผิดออกมาก่อเหตุซ้ำเป็นจำนวนมาก”