ปูตินเอาจริงไม่ขู่!?รัสเซียเล็งติดตั้งขีปนาวุธยุโรป สหรัฐ-นาโต้หนุนยูเครนบุกดอนบาส จะเจอผลเลวร้ายสุดๆ

1452

รัสเซียขู่สหรัฐ-นาโต้สั่งประจำการขีปนาวุธพิสัยปานกลางในยุโรป ตอบโต้ความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของอีกฝ่าย เพราะปธน.ได้แสดงออกของการแก้ปัญหาโดยการเจรจา โดยมีการพูดคุยกันระหว่างผู้นำรัสเซีย และสหรัฐแต่ผลคุยกันไม่ลงตัว สหรัฐและนาโต้ ตลอดจนพันธมิตรตะวันตก G7 ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนก่อสงครามปราบปรามคู่พิพาทดอนบาส ซึ่งรัสเซียไม่เห็นด้วยและประณามว่าเป็นการก่ออาชญากรรมทั้งกับประชาชนดอนบาส และประเทศรัสเซีย นอกจากนี้ทั้งสหรัฐและนาโต้ ได้เคลื่อนไหวส่งมอบจรวดขีปนาวุธให้ยูเครน พร้อมกับการส่งทหารฝึกซ้อมร่วมอย่างเอิกเกริก มิหนำซ้ำยังส่งเรือพิฆาตโฉบเฉี่ยวน่านน้ำส่งบินรบสอดแนมทางอากาศ เข้าพื้นที่รัสเซียอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปูตินยังเปิดทางเจรจา ต้องการขอคำมั่นอย่างถูกกฎหมายและเป็นทางการในการรับประกันจะไม่เข้าไปยุ่มย่ามใกล้เขตแดนรัสเซีย  แต่สหรัฐยังอ้ำอึ้งและนาโต้กลับไม่ตอบสนอง ต้องจับตาดูความตึงเครียดสงครามร้อนในย่านนี้ว่า จะคลี่คลายหรือปะทุก่อนปีใหม่ที่จะมาถึงหรือไม่ เพราะล่าสุดกองทหารยูเครนเคลื่อนประชิดพื้นที่พิพาทซึ่งใกล้ชายแดนรัสเซีย และมีการใช้จรวดของสหรัฐยิงเข้าพื้นที่พิพาทแล้ว รัสเซียจึงไม่อาจนิ่งเฉย เตรียมติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในยุโรปพร้อมรับมือการปะทะทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค.2564 สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และสปุ๊ตนิค รายงานว่า  ทางการรัสเซียระบุจำเป็นต้องประจำการขีปนาวุธพิสัยปานกลางในยุโรป ตอบโต้สิ่งที่สหรัฐและนาโต้กำลังดำเนินการแบบเดียวกัน

คำเตือนดังกล่าวโดยเซอร์เก รยาบคอฟ(Sergey Ryabkov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เพิ่มความเสี่ยงของการทวีการสะสมอาวุธร้ายแรงรอบใหม่ในทวีป ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน-สหรัฐและพันธมิตรยุโรป ดำดิ่งสู่จุดเลวร้ายสุดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

รยาบคอฟ ระบุว่ารัสเซียจะถูกบีบให้ต้องดำเนินการ หากว่าตะวันตกปฏิเสธเข้าร่วมกับมอสโกในสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง( intermediate-range nuclear forces หรือ INF) ในยุโรป ส่วนหนึ่งของแพ็คเกจรับประกันด้านความมั่นคง ที่รัสเซียกำลังเรียกร้องจากสหรัฐและนาโตในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาปลดชนวนวิกฤตยูเครน

การปราศจากความคืบหน้าใดๆในความพยายามฝ่าทางตันทางการเมืองและการทูต จะทำให้รัสเซียต้องตอบโต้ในแนวทางด้านการทหาร ด้วยเทคโนโลยีทางทหาร รยาบคอฟให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอ “ซึ่งนั่นก็คือ มันจะเป็นการเผชิญหน้า มันจะเป็นยกต่อไป” 

 

อาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง ซึ่งมีระยะทำการระหว่าง 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร เป็นสิ่งต้องห้ามในยุโรปภายใต้สนธิสัญญาปี 1987 ระหว่างมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตในเวลานั้น กับ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องในช่วงเวลาดังกล่าวว่า เป็นการปลดชนวนความตึงเครียดครั้งสำคัญแก่สงครามเย็น โดยในช่วงปี 1991 ทั้งสองฝ่ายทำลายขีปนาวุธพิสัยปานกลางรวมกันเกือบๆ 2,700 ลูก

เกอร์ฮาร์ด แมนกอตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้นนโยบายต่างประเทศรัสเซียและควบคุมอาวุธแห่งมหาวิทยาลัยอินน์สบรูค ในออสเตรีย ให้ความเห็นว่าคำเตือนของมอสโกก็คือการส่งสัญญาณครั้งสุดท้ายไปยังนาโต ว่าพวกเขาควรเข้าสู่โต๊ะเจรจากับรัสเซียเกี่ยวกับสนธิสัญญาที่ถูกพักมานาน หากนาโต้ยึดมั่นในจุดยืนไม่เจรจาเกี่ยวกับข้อตกลง เมื่อนั้นเราจะเห็นรัสเซียประจำการขีปนาวุธสกรูไดรเวอร์ ตามแนวชายแดนทางตะวันตกไกลของประเทศในเร็วๆนี้แน่นอน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รยาบคอฟ ปรากฏตัวในฐานะหนึ่งในผู้ส่งสารสำคัญของมอสโก ในขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เดินหน้ากดดันสหรัฐฯและพันธมิตรขอคำรับประกันความมั่นคงจากตะวันตก เขาย้ำเปรียบเทียบสถานการณ์ความตึงเครียดในปัจจุบัน เหมือนกับวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งผลักสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตสู่ขอบเหวแห่งสงครามนิวเคลียร์

รยาบคอฟ กล่าวอ้างว่ามีสิ่งบ่งชี้ว่านาโต้กำลังกลับมาประจำการขีปนาวุธพิสัยปานกลางรวมถึงการคืนชีพกองบัญชาการปืนใหญ่ที่ 56 (56th Artillery Command) ซึ่งเคยเป็นกองกำลังที่ปฏิบัติการขีปนาวุธศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์เพิร์ชชิง (Pershing) ในสมัยสงครามเย็น

นาโต้ปฏิเสธว่าจะไม่มีขีปนาวุธใหม่ๆของสหรัฐฯในยุโรป และพร้อมป้องปรามขีปนาวุธใหม่ๆของรัสเซียด้วยมาตรการตอบโต้ ที่จะไม่ใช่แค่อาวุธธรรมดาเท่านั้น

แต่รยาบคอฟ ยืนยันว่ารัสเซียไม่ไว้วางใจในนาโต้แม้แต่นิดเดียวเพราะการกระทำสวนกับคำพูดตลอดและเตือนว่า “การขาดความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทางการเมืองและการทูตสำหรับปัญหานี้ จะนำไปสู่การตอบสนองของเราในด้านทหารและเทคโนโลยีในไม่ช้า”