อดีตตลก.เผยเอง! ใครยกร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ชี้ช่องยื่นศาลรธน.วินิจฉัยลดโทษโมฆะได้

3944

จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอให้ลดโทษคดีโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระบวนการพิจารณาของกระทรวงยุติธรรม ทุกคนก็มีสิทธิ์อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร อยู่ในกระบวนการพิจารณาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคดีแบบไหน เพราะว่าเป็นกฎหมาย และพระราชบัญญัติ เป็นการทำงานต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็ช่วยกันระมัดระวัง

เมื่อถามว่าการใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวยังไม่หมด แต่กลับมีการลดโทษผู้กระทำผิดในคดีดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า ก็ไปว่าการตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าคดียังไม่หมดอายุความก็ฟ้องร้องกันต่อไป เป็นเรื่องของคดีแพ่งและคดีอาญาก็ว่ากันต่อไป

ล่าสุดวันนี้ 13 ธันวาคม 2564 นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM101 ต่อกรณีที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษนักโทษในคดีทุจริต คอรัปชั่น ว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริต

“ต้องรู้ธรรมชาติของคนเกเร หากไม่จำนนด้วยหลักฐานจะมีช่องทางหาทางออกไปเรื่อย ต้นเหตุมาจากการบริหารโทษ ไม่ว่าบริหารอะไร ไม่ใช่ทำตามใจชอบต้องทำให้ถูกกฎหมาย จึงอ้างกฎหมาย และระเบียบ การบริหารกิจการใดไม่ใช่เอากฎหมายอย่างเดียว แน่นอนต้องไม่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ พวกฉลาดทำถูกกฎหมาย แต่ระบบคุ้มครองสังคมต้องดูต่อไปว่า ฝ่าฝืนสำนึกของสุจริตของสังคมหรือไม่ มีที่ไหนในโลก จำคุกมา 4 ปี 4 เดือนขออภัยโทษให้ 4 รอบ”

นอกจากนี้ นายจรัญ ยังกล่าวถึงการยกร่าง พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ความเห็นชอบ แต่ยอมรับว่า ครม. ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือ นำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียดไม่ใช่ ขอเป็นการทั่วไป และต้องกลั่นกรอง และตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร

“คดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกยากแสนเข็ญมากกว่า ดังนั้นคดีทุจริต คอรัปชั่นต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติดยังมีการขอรอบเว้นรอบ แต่คดีทุจริตนี้นี้ทุกรอบ คนที่โกงและจับได้ชัดๆ มีโทษจำคุก 50 ปี แต่ลดเหลือ 6 ปี 10 ปี แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนแย่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกันหมด ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ ต้องดูแล เพราะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหารต้องดูแลประเทศ” นายจรัญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายจรัญ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีช่องทางที่ทำได้ คือ ใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63  โดยกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริงจะถูกตีตก แต่กรณีดังกล่าวหากใช้ตามช่องทางและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างไรต้องเคารพในอิสระและความเป็นกลางของสถาบันตุลาการของชาติ

“ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่ากฎหมายในชั้นพระราชกฤษฏีกา ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชกฤษฏีกาเลือกตั้ง หลายครั้งขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนั้นช่องทางนี้เป็นไปได้ และไม่กระทบกระเทือนพระองค์ เพราะไม่ใช่กระแสรับสั่ง เป็นการบริหารโทษของฝ่ายบริหารที่คานอำนาจของฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะตามกฎหมายห้ามย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ” นายจรัญ กล่าว