กระแสข่าวที่กลาโหมอิสราเอลหารือกลาโหมสหรัฐฯเตรียมซ้อมรบร่วมกัน ตั้งเป้าถล่มโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านหากเจรจาล้มเหลว เป็นเรื่องที่อิหร่านย่อมรับรู้ได้ถึงท่าทีและจุดมุ่งหมายที่ซ่อนเร้นของสหรัฐและอิสราเอลว่าเป็นอย่างไร จึงยืนยันจุดยืนต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรก่อน และขอไม่ให้ทำลายโรงไฟฟ้าปรมาณูที่สร้างไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ ส่งผลเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีกครั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ว่าการเจรจาจะสำเร็จหรือไม่ อิสราเอลซึ่งคัดค้านการเปิดโต๊ะเจรจามาแต่แรกย่อมเดินหน้าลุยอิหร่าน เพราะมั่นใจว่าสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกจะต้องสนับสนุน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวอัลจาซิรา(Al Jazeera)และรัสเซียทูเดย์ รายงานว่า อิสราเอลและสหรัฐฯ เตรียมหารือถึงการซ้อมรบร่วมกัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นหากการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านล้มเหลว และหากมีการร้องขอจากผู้นำของอิสราเอลและสหรัฐฯ ให้ทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อรับประกันความเป็นไปได้ว่าอิหร่านจะไม่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ การเตรียมการในลักษณะดังกล่าวของอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความกังวลในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน
การประชุมระหว่างลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(Lloyd Austin:Defense Secretary) กับเบนนี แกนซ์ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (Benny Gantz:Defense chief) ซึ่งอิสราเอลได้แสดงความหวังว่าจะ“กระชับการเจรจาและความร่วมมือของสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”เมื่อพูดถึงอิหร่าน แกนซ์ ยกประเด็นเรื่องความพร้อมร่วมทางทหาร ที่จะหยุดยั้งความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของอิหร่านให้ได้ มีรายงานข่าวว่าแกนซ์จะหารือถึงการซ้อมรบทวิภาคีระหว่างสองประเทศเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจู่โจมสาธารณรัฐอิสลาม แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าประเด็นนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่
การเจรจาเพื่อฟื้นสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นระหว่างอิหร่านและมหาอำนาจโลกในปี 2558/2015 ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตหะรานกลับสู่โต๊ะเจรจาพร้อมเรียกร้องให้วอชิงตันยกเลิก“การคว่ำบาตรเชิงกดขี่”เพื่อแลกกับการควบคุมอย่างเข้มงวดในโครงการนิวเคลียร์พลเรือน ซึ่งเป็นจุดยืนที่มีมายาวนาน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียวและนำมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กลับมาใช้อีกครั้งในการกดดันขั้นสูงสุดต่ออิหร่านในปี 2561
นโยบายของปธน.ไบเดนไม่แตกต่างและได้ปฏิบัติตามเป็นส่วนใหญ่ แม้จะตกลงจัดการเจรจาก็ตาม เพื่อเป็นการตอบโต้ อิหร่านได้ค่อย ๆลดภาระผูกพันของตนต่อข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงการเสริมสมรรถนะของยูเรเนียมด้วย
แม้ว่าวอชิงตันจะกล่าวหาเตหะรานซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าต้องการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่อิหร่านยืนยันว่า โครงการพลังงานปรมาณูของประเทศไม่มีมิติทางการทหาร และอ้างพระราชกฤษฎีกาทางศาสนาก่อนหน้านี้โดยกลุ่มอยาตอลเลาะห์ของอิหร่านห้ามการใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงโดยสิ้นเชิง แต่สหรัฐและตะวันตกยังคงยืนยันที่จะยับยั้งโอกาสในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในทุกกรณี
เจ็น ชากีโฆษกทำเนียบขาวเปิดเผย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า “ในขณะที่ปธน.โจ ไบเดน เชื่อมั่นในการเจรจาต่อรอง แต่คงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าอิหร่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง”“ประธานาธิบดีได้ขอให้ทีมบริหารเตรียมพร้อมในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว และต้องหันไปใช้ทางเลือกอื่น และนั่นจำเป็นต้องมีการเตรียมตัว”
เพียงไม่กี่วันหลังจากที่วอชิงตันและเตหะรานนั่งลงเพื่อเจรจาครั้งใหม่ อิสราเอลและสหรัฐฯตกลงหารือถึงความเป็นไปได้ของการซ้อมรบร่วมทางทหาร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่าน ตามรายงานหลายฉบับ ในขณะที่สื่อตะวันตกโหมกระพือว่า อิหร่านดื้อดึงไม่ยอมหยุดพัฒนายูเรเนี่ยมแต่ไม่รายงานการเคลื่อนไหวของ กองทัพสหรัฐและกองทัพอิสราเอลที่เตรียมซ้อมรบตั้งเป้าถล่มโรงงานนิวเคลียร์ของสหรัฐ อ้างว่าเตรียมไว้ถ้าเจรจาล้มเหลว
แน่นอนว่าเค้าลางการเจรจาไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะสหรัฐฯยังคงยืนกรานบีบอิหร่านทั้งเศรษฐกิจ การทหารแม้จะยอมตกลงก็ตาม ซึ่งอิหร่านมีบทเรียนว่าอดทนต่อข้อเรียกร้องของตะวันตกนับสิบปีจากการถูกคว่ำบาตรเศรษฐกิจไม่มีความหมายอะไร และท่าทีของสหรัฐและตะวันตกถือหางอิสราเอล ที่สามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้โดยไม่ต้องรายงานสหประชาชาติ แต่บีบบังคับอิหร่านต้องปลดอาวุซึ่งอิหร่านมองว่าไม่เป็นธรรม
ขณะที่ข่าวความขัดแย้งในแนวรบตะวันออกของสหรัฐและรัสเซียเข้มข้น แนวรบทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐและจีนก็ระอุคุกรุ่น แต่แนวรบตะวันออกกลางสร้างภาพมีการเจรจา แต่ในพื้นที่มีการสู้รบทำลายล้างล้ำแดนระหว่างอิสราเอลและโลกอาหรับอยู่เนืองๆ โดยมีสหรัฐหนุนหลัง ทั้งงบฯประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้โลกต้องจับตาสงครามฝังลึกระหว่าง สหรัฐ-อิสราเอล-อิหร่าน ที่เขม็งเกลียวมากขึ้นอย่าได้คลาดสายตา??