Truthforyou

บานปลาย! หมอเหรียญฯ เดือดฮึ่มถวายฏีกา ค้านยธ.ลดโทษพวกโกงชาติ ท้าไม่พอใจฟ้องมาเลย!

จากกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงนักโทษคดีสำคัญ ๆ ที่ได้รับการลดโทษแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ ในช่วงวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนกฎกระทรวง

ต่อมาทางด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุข้อความว่า

การอาศัยช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักการเมืองและลิ่วล้อโกงชาติโดยกระทรวงยุติธรรมอย่างไม่คำนึงถึงความรู้สึกรู้สำนึกของวิญญูชนของสังคมโดยรวม ทั้งยังนำมาซึ่งความเสียหายต่อพระเกียรติยศ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งของกระทรวงยุติธรรม หากไม่ใช่เพราะผมเกรงการระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทแล้ว ผมจะขอถวายฎีกาคัดค้านกระทรวงยุติธรรมเพื่อปกป้องพระเกียรติยศจากการกระทำไม่บังควรนี้ของกระทรวงยุติธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกานั้นถือว่าเป็นคำพิพากษาที่ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์อันเป็นที่สุดแล้ว เมื่อพิพากษาตัดสินให้จำคุกนักการเมืองและลิ่วล้อโกงชาติต้องจำคุกหลายสิบปี แต่กระทรวงยุติธรรมกลับอาศัยช่องทางการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักโทษโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อบรรทัดฐานความดีงามอันถือเป็นรากฐานของความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ
กระทรวงยุติธรรมได้ทำลายบรรทัดฐานการรู้ดี รู้ชั่ว และนำพาสังคมโดยรวมไปสู่ความจัญไร ไม่เคารพเกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของกระทรวงยุติธรรม การกระทำการของกระทรวงยุติธรรมอย่างไม่เกรงความรู้สึกของสังคมโดยรวมเช่นนี้ ย่อมถือว่ากระทรวงยุติธรรมนั้นไร้สำนึกในความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง ทั้งยังอาศัยช่องทางการบริหารราชการแผ่นดิน ถึงแม้จะถูกต้องด้วยแนวทางที่กระทำได้ แต่ไม่ถูกต้องด้วยสำนึกของมหาชนในความดีงาม รู้การรับผิด กระทรวงยุติธรรมได้อาศัยช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษโดยไม่บังควร
กระทรวงยุติธรรมไม่พอใจก็เชิญใช้อำนาจสามานย์ฟ้องหมิ่นประมาทผมได้
….ชิบหาย
 
โดยเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม 2564) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี นายสมชาย ตั้งคำถามถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ว่า การบริหารโทษและการพิพากษากำหนดโทษเป็นคนละส่วนกัน ภายใต้กรอบอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจตามกฎหมายของแต่ละฝ่าย ซึ่งการบังคับโทษทางอาญา คือ การบริหารโทษ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่ดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย

 

“ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ สำหรับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ เป็นกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษเช่นกัน

การบังคับโทษ โดยปกติในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่จะบังคับโทษทั้งสิ้นตามคำพิพากษา แต่จะมีกลไกทางกฎหมายอื่นๆ มา บริหารโทษ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น ลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดี โดยมุ่งเน้นให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสให้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข  ขอให้ลองนึกภาพย่อลงมาในระดับครอบครัว เชื่อว่าไม่มีพ่อ และแม่คนใดที่จะที่ลงโทษลูกจนครบ หรือ ตีลูกจนบาดเจ็บล้มตาย ส่วนมากก็จะเอาแต่พอสมควร คือการให้อภัย การให้โอกาส เพื่อให้คนในครอบครัว ได้อยู่อย่างปกติสุข

วัตถุประสงค์ของการลงโทษคือการป้องปราม ยับยั้งการกระทำ และการแก้ไขผู้กระทำผิด การลงโทษจึงมีหลากหลายวิธี ทั้งในเรือนจำและนอกเรือนจำ รวมทั้งการลงโทษทางสังคมทางชื่อเสียงเกียรติยศ ที่ผู้กระทำผิดและครอบครัวได้รับไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ความรุนแรง หรือการลงโทษสูงเป็นสำคัญ แต่จะอยู่ที่ความแน่นอนและรวดเร็วของการลงโทษ ที่จะมีผลยับยั้งการกระทำความผิดมากกว่า”  นายสมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การบริหารโทษ ตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม นั้น มีความหลากหลาย ทั้งในเรือนจำและนอกเรือนจำ คือ การคุมประพฤติ และติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM และการดำเนินการเป็นไปโดยเสมอหน้ากัน ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้ต้องโทษ ทุกคดี ทุกราย จะได้รับการบริหารโทษอย่างเท่าเทียมกันภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวว่า  การพระราชทานอภัยโทษ เป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่พระมหากษัตริย์ไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน บนพื้นฐานของหลักเมตตา และกรุณาอันมาจากองค์อธิปัตย์หรือประมุขแห่งรัฐ

“ตนขอยืนยันว่า เราได้ดำเนินการตามหลักกฎหมายที่มุ่งให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิด ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมายในสังคม ด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ เป็นไปตามหลักทัณฑวิทยาที่นานาอารยประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤตินิสัยและให้โอกาสผู้พลั้งพลาดในการกลับตัวสู่สังคม”
Exit mobile version