การเจรจาทวิภาคีเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างวอชิงตันและมอสโกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งเครมลินและทำเนียบขาวได้ส่งสัญญาณว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องมีการเจรจา ผลเจรจาตลอด 2 ชั่วโมงยังคงอึมครึม เพราะสหรัฐยังยืนยันหนุนหลังยูเครน ขณะที่รัสเซียเรียกร้องให้สหรัฐและนาโต้เลิกยั่วยุความขัดแย้งระหว่างยูเครนและดอนบาสกระทบชิ่งรัสเซีย สรุปว่าจะคุยกันอีกแต่ไม่รับประกันการเคลื่อนไหวทางทหารที่ขยับรุกชิดชายแดนรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 7 ธ.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการประชุมทางไกลของผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียและประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ วางจุดยืนตรงกันข้ามกันในประเด็นยูเครน ระหว่างประชุมสุดยอดผ่านวิดีโอคอลล์แต่เห็นพ้องกันว่ามอสโกและวอชิงตัน ควรเดินหน้าพูดคุยเจรจากันต่อไป
ในระหว่างการพูดคุยนั้น ไบเดน ได้กล่าวเตือน ปูติน ว่าตะวันตกจะกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจและอื่นๆ อย่างหนักหน่วงเล่นงานรัสเซีย หากว่ามอสโกยกพลรุกรานยูเครน ส่วนทาง ปูติน เรียกร้องกลับ ขอคำรับประกันว่านาโต้จะไม่ขยายขอบเขตปฏิบัติการไปในทิศตะวันออกเพิ่มเติม
ยูริ ยูชาคอฟ (Yuri Ushakov) ผู้ช่วยเครมลินกล่าว หลังการพูดคุยหารือกันระหว่างสองฝ่ายที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงว่า “มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังถึงความคืบหน้าอย่างทันทีทันใด แต่ประธานาธิบดีทั้งสองแสดงเจตนาว่าจะสานต่อในทางปฏิบัติและเริ่มพูดคุยหารือในประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งแก่มอสโก”
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการตกลงจัดประชุมพูดคุยหารือกันเพิ่มเติมแล้ว ในถ้อยแถลงของมอสโกเกี่ยวกับการสนทนากันในครั้งนี้ กลับไม่พบสัญญาณใดๆ ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถปรับลดจุดยืนความเห็นต่างให้แคบลง ในขณะที่การประชุมเกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังสถานการณ์ความตึงเครียด รัสเซียเสริมกำลังทหารจำนวนมากตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ขณะที่สหรัฐและนาโตร่วมซ้อมรับในดินแดนยูเครน และเคลื่อนขีปนาวุธติดตั้งในยูเครน ทำให้รัสเซียกังวล
ถ้อยแถลงของเครมลินเผยว่า ปูตินได้เน้นย้ำว่ายูเครนมีพฤติกรรมยั่วยุ และใช้แนวทางทำลายล้าง โดยมีเป้าหมายเล่นงานเพิกถอนข้อตกลงสันติภาพต่างๆ ระหว่างปี 2014 ถึง 2015 ที่ออกแบบมาเพื่อยุติสงครามระหว่างกองกำลังยูเครนกับสาธารณรัฐอิสระทางตะวันออกของประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย
ในถ้อยแถลงระบุด้วยว่า ไบเดน พูดถึงความเป็นไปได้ที่ตะวันตกจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย หากว่าสถานการณ์ลุกลามบานปลายและกล่าวหามอสโกมีพฤติกรรมข่มขู่คุกคาม
ส่วนทาง ปูติน ตอบกลับว่า “ข้อเท็จจริงก็คือ นาโต้กำลังดำเนินการอย่างเป็นอันตรายในความพยายามยึดอาณาเขตของชาวโดเนตสค์และลูกาสค์ที่ขัดแย้งกับยูเครน และกำลังเสริมแสนยานุภาพทางทหารของพวกเขาตามแนวชายแดนของเรา”
เครมลินระบุว่า “เพราะฉะนั้น รัสเซียจึงสนใจอย่างยิ่งในการได้มาซึ่งคำรับประกันที่น่าเชื่อถือและชอบด้วยกฎหมาย ที่รับประกันว่านาโต้จะไม่ขยายขอบเขตปฏิบัติการไปในทิศตะวันออกและประจำการระบบอาวุธโจมตีรุกรานในประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดกับรัสเซีย”
เจ้าหน้าที่รัสเซียเคยประกาศกร้าวก่อนหน้านี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้กับยูเครนที่แนบแน่นยิ่งขึ้นอย่างผิดปกติ และการที่พันธมิตรนาโต้จะประจำการขีปนาวุธโดยเล็งเป้าหมายมาที่รัสเซียนั้น คือจุด”เส้นตาย” ที่รัสเซียจะไม่ยอมให้ก้าวข้าม
จากการเปิดเผยของเครมลิน ปูตินได้บอกกับไบเดนไปว่า เขาต้องการคำรับประกันว่าระบบโจมตีรุกรานจะไม่ถูกส่งเข้าประจำการในประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดกับรัสเซียแต่ไบเดนไม่ได้คำรับประกันแต่อย่างใด
การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ตะวันตกแสดงความกังวลว่ารัสเซียจะรุกรานยูเครน และส่งเสียงเตือนว่าจะมีมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและอื่นๆ อย่างหนักหน่วง หากว่ามอสโกเปิดฉากความขัดแย้งทางทหาร อย่างไรก็ตาม เครมลิน ซึ่งบอกก่อนหน้าการประชุม ว่า พวกเขาไม่คาดหมายว่าการพูดคุยครั้งนี้จะมีความก้าวหน้าใดๆ ปฏิเสธว่าไม่ได้อำพรางเจตนาโจมตียูเครน และทหารของพวกเขาอยู่ในสถานะที่พร้อมป้องกันตนเองอย่างเต็มที่
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯ“ไม่ได้ให้คำมั่นหรือรับประกันใดๆ”