เอสเอ็มอีมีความหวัง!?! รัฐบาลใช้กม.บังคับมาตรฐานเครดิตเทอม สกัดรายใหญ่ยื้อจ่ายคืนเงินรายย่อยค้าปลีก-เกษตร

2704

ศบศ.สั่ง 3 หน่วยงานหลัก สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการแข่งขันการค้า เร่งถกการใช้กฎหมายบังคับสร้างมาตรฐานเครดิตเทอม สกัดธุรกิจรายใหญ่ยื้อจ่ายรายย่อยเอสเอ็มอี  นำร่องปลดล็อคให้กลุ่มธุรกิจเกษตรและค้าปลีก หากใครละเมิดโทษปรับ 10% ของรายได้ สอท.นำร่องชวนบิ๊กธุรกิจเคลียร์เงินเอสเอ็มอีภายใน 30 วันทดลอง 3 เดือน หากภาครัฐไม่เตรียมลงแส้ขาใหญ่เอาเปรียบ คงไม่ได้เห็นภาคธุรกิจรายใหญ่ออกหน้า ที่ผ่านมาดองคืนค่าสินค้าเกิน 2 เดือนกันเป็นเรื่องปกติ ได้เวลาเปลี่ยนแปลงแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ใช่แค่ปัญหาหนี้สินและ เงินทุนเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบที่ธุรกิจรายใหญ่เบียดเบียนโอกาสเติบโตของเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีชายขอบที่อยู่นอกระบบธนาคาร

ศบศ.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย

(1) กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเภทธุรกโดยให้มีผลบังคับใช้ กรณียกเว้น และบทลงโทษทางกฎหมาย รวมทั้งกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition period) สำหรับภาคธุรกิจให้เตรียมความพร้อมและปรับตัวภายใต้เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term

(2) เปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และเสนอให้นำข้อมูลระยะเวลา Credit term เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมิน Socially Responsible Investing

(3) สร้างแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการลดระยะเวลา Credit term

กฎเครดิตเทอมยาวผิดปกติ-เข้าข่ายการค้าที่ไม่เป็นธรรม?

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐาน ให้คู่ค้าแต่ละรายกำหนดระยะเวลาคืนเงินค้าสินค้า (เครดิตเทอม)ทำให้เกิดปัญหาการคืนเงินค่าสินค้าระยะเวลาไม่เท่ากัน บางรายมากกว่า 45 วันถึง 120 วัน เมื่อจ่ายเงินช้ารายเล็กรายย่อยได้รับผลกระทบกับสภาพคล่อง  โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย เอสเอ็มอีซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองกับรายใหญ่ ทำให้ไม่สามารถนำเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่มาช้านาน จนเมื่อโควิด-19 ระบาด ปัญหายิ่งเด่นชัด

ศบศ.ได้กำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันการค้า (กขค.) หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยหารือกับสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามพ.ร.บ.แข่งขันการค้าปี 2560 มาตรา 57 เกี่ยวกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม สามารถนำมาดูแลปัญหานี้ได้ แต่ต้องศึกษารายละเอียดสินค้า รูปแบบการชำระเงิน ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ต้องกำหนดเป็นมาตรฐานใช้อย่างทั่วหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน

เอสเอ็มอีสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย?

วิสาหกิจขนาดกลางและขนายย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย ครอบคลุมกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 7 แสนราย และในรูปบุคคลอีกกว่า 2.2 ล้านราย ขณะที่ครอบคลุมการจ้างงานถึงประมาณ 14 ล้านตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมากลับประสบปัญหาสารพัดด้าน ทำให้มีบริษัทเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการ และเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งกระทบอย่างหนัก บางรายถึงขนาดเลิกกิจการ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการวิจัยพบว่า ได้มีภาคการเงิน การคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน คลอดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่มาตรการเหล่านั้นกำลังจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.2563 นี้ ทำให้หลายๆ ฝ่ายมีความกังวล หลังจากนี้เอสเอ็มอีจะอยู่รอดได้หรือไม่ และมาตรการเหล่านั้นควรจะยืดออกไปอีกหรือไม่

แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่คลี่คลายนั้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ภายนอกประเทศยังคงมีการแพร่ระบาดไม่หยุด บางประเทศก็เกิดระบาดรอบ 2 ขึ้น ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาคธุรกิจยังต้องคงนโยบาย Social Distancing ที่ทำให้มีต้นทุนดำเนินงานเพิ่ม และยอดขายยังไม่กลับสู่ระดับปกติ

เอสเอ็มอีชายขอบไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ระบุว่า สถานการณ์ของเอสเอ็มอียังน่าห่วง เพราะการใช้จ่ายของประชาชนยังไม่ได้ขยายตัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาว ตัวเลขผู้ติดเชื้อในยุโรปยังพุ่งสูง และแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือโดยเตรียมกู้เพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท โดยจำนวนนี้มีวงเงินช่วยเอสเอ็มอี แต่ในรายละเอียดยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าธนาคาร ไม่ได้เปิดรับทุกกลุ่ม จึงยังอาจไม่ตอบโจทย์มากนัก ดังนั้นกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไปไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารจึงมีโอกาสรอดยาก สถานการณ์ย่ำแย่

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ออกโครงการช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี วงเงินหนี้ 50-500 ล้านบาท 8.5 พันราย ก็น่าจะช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่รายเล็กๆ ที่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท น่าห่วงอยู่ดี ดังนั้นอีกสิ่งที่จำเป็นขณะนี้คือ การพักชำระหนี้ อาจขยายถึงสิ้นปี เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังจะเผชิญความไม่แน่นอนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ตราบใดที่การพัฒนาวัคซีนยังไม่นำมาสู่การใช้จริงอย่างแพร่หลาย

แต่การที่จะต้องประคองเอสเอ็มอีต่อชีวิตยาวออกไปได้นั้น ก็จะส่งผลกระทบกับกลุ่มธนาคารเช่นกัน ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในกรณีที่มีการต่ออายุมาตรการออกไป ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังสามารถประคองอัตราส่วนกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไว้ที่ประมาณ 13-14% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นภาครัฐบาลควรต้องพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถก้าวผ่านระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ และช่วยพยุงเอสเอ็มอีให้อยู่รอดในภาวะเช่นนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเอสเอ็มอีนั้นคือเศรษฐกิจฐานรากของเศรษฐกิจไทย และสามารถที่จะต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกด้วย

ภาครัฐหนุนหลายมาตรการจากหลายหน่วยงาน

สสว.-ออกกองทุนส่งเสริมชีดความสามารถให้เอสเอ็มอี  โดยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า บอร์ด สสว. ได้เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณปี 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงินงบประมาณ 1,113.0944 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ 7 กิจกรรมตามแผนการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 2. พัฒนาวิสาหกิจรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ (Micro) 3. พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ (Small) 4. สนับสนุนให้บริการคำปรึกษา องค์ความรู้และข้อมูลสำหรับการประกอบธุรกิจของ MSME 5. จัดทำแผน พัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริม SME 6. ยกระดับการพัฒนาระบบข้อมูล SME และ 7. พัฒนาระบบการส่งเสริม SME

แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่สำคัญของ สสว. มีเป้าหมาย ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ประกอบการชุมชนได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 216,562 ราย และมีตัวชี้วัดคือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ประกอบการชุมชนที่ได้รับการพัฒนา สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 3,887.9100 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการทางการเงินช่วย

1) มาตรการเลื่อนชำระหนี้: เลื่อนกำหนดชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทเป็นเวลา 6 เดือนเป็นการทั่วไป  2) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ: สนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรกรัฐบาลเป็นฝ่ายรับภาระดอกเบี้ย 6 เดือนแรกและชดเชยความเสียหายบางส่วน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงิน  3) มาตรการจัดตั้งกองทุน: จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลาดตราสารหนี้เอกชนในไทยมียอดคงค้างราว 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนให้ทำงานได้ตามปกติ โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการออมของประชาชนในวงกว้างและป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาลุกลามกระทบเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม 4) มาตรการลดการนำส่ง FIDF Fee: ลดการนำส่ง FIDF Fee ที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินจาก 0.46% ของฐานเงินฝากเป็น 0.23%

ส.อ.ท.หนุนแก้ปัญหาเอสเอ็มอีได้รับเงินค่าสินค้าช้ากว่าปกติ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ผลักดันรัฐให้ออกมาตรการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องให้ SME โดย ให้สินเชื่อการค้า:เครดิตเทอม 30 วัน เสมอกันทุกหน่วยงาน ฝ่ายธุรกิจนำร่องชวนสมาชิกสอท.เริ่มปฏิบัติ

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน หลายธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ภาครัฐกำลังพยายามผลักดันและกำหนดให้มีเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (ระยะเวลา credit term) ส.อ.ท. ในฐานะองค์กรภาคเอกชนจึงเชิญบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกเข้าร่โครงการ F.T.I. Faster PAYMENT : ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือให้ชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน และได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้วเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

จากการสำรวจวิจัยของ สอท.พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมปี 2559 มีระยะเวลาจ่ายเงินชำระค่าสินค้าในช่วง 30-45 วันแต่ปีนี้พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้นกว่าจะจ่ายเงินระยะเวลาเพิ่มเป็น 60-120 วันซึ่งการทำธุรกิจการค้านั้น ปกติแล้ว 96% ซื้อขายสินค้ากันด้วยสินเชื่อจากซัพพลายเออร์การลดระยะเวลา เครดิตเทอมที่สัั้นลงจะช่วยให้เอสเอ็มอี มีสภาพคล่องและอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19

โครงการนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. โดยนำร่องจากคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 ซึ่งเป็นผู้บริหารมีทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 50 บริษัท อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

“ประเมินว่าเอสเอ็มอีจะได้รับประโยชน์จากโครงการรวมประมาณ 100,000 ล้านบาทผู้ที่เกี่ยวข้องวงการเอสเอ็มอีรวมกว่า 10 ล้านคนจึงอยากฝากถึงภาคบริการและภาครัฐ หากจ่ายเงินภายใน 30 วัน จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ปกติภาครัฐกว่าจะจ่ายปกติไม่ต่ำกว่า 90 วันซึ่งน่าจะมีบทลงโทษกับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่จ่ายตามระยะเวลาด้วยภายใต้เงื่อนไขว่าหากได้มีการทำข้อตกลง แต่ปกติแล้วภาครัฐจะจ่ายค่าสินค้ามีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 90 วัน ซึ่งเห็นว่าภาครัฐไม่ควรเอาภาษีของประชาชนไปดองไว้”