รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ระบุการไฟเขียวให้ต่างชาติเข้ามารักษาตัวเป็นนโยบายเบื้องต้น ในด้านการปฏิบัติต้องรอหารือในศบค.ชุดใหญ่ก่อน ว่าจะให้เข้ามาได้เมื่อไหร่ มีเงื่อนไขที่เหมาะสมอย่างไร ย้ำต้องเอาความปลอดภัยคนในประเทศก่อน ยืนมาตรการเข้มการ์ดไม่ตก ส่วนกระแสข่าวว่ามีต่างชาติขอเข้ามารักษาตัว 1,700 คนยังไม่มีรายงานเป็นทางการ ต้องรอฟังศบค.ชุดใหญ่และพิจารณาเป็นกรณีไป
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่จะมีการอนุญาตให้กลุ่มผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย จำนวน 1,700 คน ว่า คงเป็นนโยบายเบื้องต้น ซึ่งเรืองนี้ก็ต้องจะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ภายสัปดาหน้า ที่ต้องหารือร่วมกัน โดยเฉพาะขณะนี้ที่หลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และหลายประเทศก็มีการเปลี่ยนมาตรการ เช่น จีนและญี่ปุ่นที่มีการยืดระยะเวลาการกักกันโรค หรือ Quarantine ขณะที่ทราเวลบับเบิลก็ต้องมีการยอมรับและเหมือนกันสองฝ่าย แต่ประเทศที่มีการระบาดจำนวนมากอยู่ ยังไม่สามารถเจรจาอะไรได้ทั้งสิ้น
รมว.อนุทินฯตอกย้ำว่าไม่ต้องกังวลใจ ยังไม่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ในขณะนี้ ส่วนการอนุญาติให้กลุ่มผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยนั้นก็ต้องดูเป็นกรณีไป แต่ทั้งหมดก็ต้องหารือในศบค.ก่อน ซึ่งมีหลายขั้นตอนและมีกรรมการหลายคนที่จะรวบรวมข้อมูล และสุดท้ายไปพิจารณาในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้คนป่วยจากต่างประเทศแสดงเจตจำนง ขอเดินทางเข้ามารักษาตัวแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คาดว่ายังไม่มี ซึ่งต้องดูด้วย ป่วยแบบไหน และเดินทางมาจากไหน มีคนติดตามเข้ามาด้วยหรือไม่ และต้องกักกันตัวอย่างไร ดังนั้นเรื่องนี้ต้องขอเวลาหารือกับกรมควบคุมโรคว่า จะอนุญาติกันอย่างไร โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการระบาดจำนวนมากอยู่ในหลายประเทศ และเราเองก็เริ่มผ่อนคลายในประเทศด้วย ดังนั้นต้องดูความปลอดภัยของคนในประเทศก่อน
ส่วนแนวโน้มการผ่อนคลายในระยะที่ 6 นั้น การผ่อนคลายในเฟส 5 นี้ก็เปิดทั้งหมดแล้ว เฟส 6 ก็เหลือกิจกรรมเพียงไม่กี่กิจกรรม เช่นเรื่องกีฬา ซึ่งต้องดูผลในเฟส5 ก่อน ที่วันนี้เข้าวันที่ 3 ถือว่ายังควบคุมได้ดี แต่อย่าลืมว่ายังมีระยะฟักตัว จึงต้องรอประมาณสองสัปดาห์เหมือนเรารอช่วงเปลี่ยนผ่านในเฟส2 และเฟส 3
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงพ.ร.บ.โรคติดต่อ ว่า ขณะนี้ยังรอเสนอขึ้นมาก่อน ส่วนแนวทางนั้นก็ต้องนำสิ่งที่เป็นอุปสรรค ก่อนที่จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ต้องไปปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ก่อนจะนำเสนอขึ้นมาเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด
……………………………………..